ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี พบผู้ป่วยจิตเวชที่พักรักษาตัวร้อยละ 40 เกิดจากการใช้สารเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าและเหล้า แนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปี 2560 พบกว่า 9,000 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท และใช้ยามากกว่า 1 ชนิด พลิกโฉมการดูแลฟื้นฟูสมอง จิตใจ สังคมและอาชีพในระดับพรีเมียม ดีที่สุดในอาเซียน โดยใช้กระบวนชุมชนบำบัด 4 เดือน ดูแลแบบโฮมสเตย์ จัดที่พักคล้ายรีสอร์ท ร่มรื่น เป็นธรรมชาติ และนำการฝึกสติมาเพิ่มความเข้มแข็งทางใจให้ผู้ป่วย พบว่าให้ผลดี ผู้ป่วยร้อยละ 70 ไม่กลับไปเสพซ้ำ มีอาชีพรายได้ พร้อมเป็นแหล่งศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเยี่ยม รพ.สวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วยโรคทางจิตเวชทุกชนิดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ประจำเขตสุขภาพที่ 11 ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ได้รับรายงานว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่พักรักษาใน รพ.สวนสราญรมย์ที่มีวันละประมาณ 350 คน ร้อยละ 40 เกิดมาจากการใช้สารเสพติด ที่พบมาก ได้แก่ ยาบ้า และเหล้า เพิ่มขึ้นจากช่วง 5 ปีก่อนประมาณ 2 เท่าตัว ร้อยละ 95 เป็นผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน และยังมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งส่งมาจากกรมควบคุมประพฤติ เป็นผู้ป่วย พ.ร.บ.ยาเสพติด ที่มีอาการทางจิต เช่น ก้าวร้าว หูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด ส่งตัวเข้ามาบำบัดด้วย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า รพ.สวนสราญรมย์ได้จัดระบบบริการฟื้นฟูด้านสมอง จิตใจ และด้านสังคมให้ผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดในระยะถอนพิษยาที่อาการทางจิตอยู่ในภาวะสงบ รับรู้ตนเองดีขึ้นแล้ว เพื่อให้กลับคืนมาสู่สภาพที่เป็นปกติที่สุด โดยใช้กระบวนการชุมชนบำบัดให้การดูแลแบบโฮมสเตย์ (home stay model) สถานที่พักฟื้นเป็นบ้านพัก 2 ชั้น คล้ายรีสอร์ท ร่มรื่น เป็นธรรมชาติ อิสระ มีทั้งหมด 9 หลัง หลังละ 10 เตียง ให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชนจำลอง ทุกคนมีส่วนร่วมในวิถีชีวิตเสมือนเป็นบ้านของตนเอง เพื่อฝึกให้ผู้ป่วยมีความรับผิดชอบ มีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี นับว่าเป็นการบำบัดฟื้นฟูที่อยู่ในระดับพรีเมี่ยมแห่งเดียวในประเทศ นับว่าดีที่สุดในอาเซียนก็ว่าได้

ในการฟื้นฟู ฝึกอาชีพให้กับผู้ป่วย จะเน้นตามความสามารถของผู้ป่วย โดยยึดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เช่นงานเกษตรกรรม การปลูกผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เพื่อให้มีรายได้ สร้างความภาคภูมิใจตนเอง ซึ่งได้ผลดีมาก และทุกคนจะได้รับการฝึกสติและสมาธิจากทีมสหวิชาชีพ เพื่อป้องกันการกลับไปใช้สารเสพติดซ้ำ ใช้เวลารักษาฟื้นฟู 4 เดือน

จากการติดตามผลพบว่าผู้ป่วยที่กลับไปอยู่กับครอบครัวในชุมชนร้อยละ 60-70 สามารถเลิกเสพยาได้ มีงานทำ มีอาชีพและมีรายได้ต่อเนื่อง พร้อมที่โชว์ผลงานของ รพ.สวนสราญรมย์ ให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ จากการไปร่วมประชุมยาเสพติดโลกประจำปี 2561 ที่กรุงเวียนนาประเทศออสเตรีย ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการทั้งด้านการแพทย์ ด้านสังคม และกฎหมาย จาก 185 ประเทศทั่วโลกเข้าประชุมประมาณ 1,500 คน มีหลายประเทศสนใจจะมาศึกษาดูงานของไทย เนื่องจากไทยมีมาตรฐานฟื้นฟูและประสบผลสำเร็จสูง ผู้ผ่านการบำบัดแล้วไม่หันกลับไปเสพยาซ้ำอีกสูงกว่าร้อยละ 85

ด้าน นพ.จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการ รพ.สวนสราญรมย์ กล่าวว่า โรคจิตเวชที่พบได้บ่อยในผู้ที่ใช้ยาเสพติดคือ โรคจิตเภท พบได้ร้อยละ 70 รองลงมาคือโรคซึมเศร้าและโรคบุคลิกผิดปกติแบบต่อต้านสังคม ก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่นพบได้ประมาณร้อยละ 30 ในปี 2560 มีผู้ป่วยสารเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาที่ รพ.สวนสราญรมย์ 9,096 คน

เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มี 6,660 คน ส่วนใหญ่ใช้สารเสพติดหลายชนิดร่วมกัน เช่น ใช้กระท่อมกับยาบ้า กัญชากับยาบ้า ร้อยละ 70 มีอายุอยู่ในช่วง 18-25 ปี น้อยสุด 8 ปีจากการใช้สารระเหย

ในการบำบัดฟื้นฟูฯ ผู้ป่วยยาเสพติด ขณะนี้มีบ้านพักทั้งหมด 9 หลัง รับได้ 60 คน มีพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และมีระบบการติดตามผลการรักษาหลังจำหน่าย 1 ปี การบำบัดฟื้นฟูฯจะครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ รวมทั้งด้านอาชีพ การใช้เวลาที่เกิดประโยชน์ และมีรายได้ เพื่อสร้างความมั่นใจ ความภาคภูมิใจให้ผู้ป่วย เนื่องจากผู้ที่ติดยาเสพติดส่วนใหญ่มักจะขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ประการสำคัญได้ให้ครอบครัวซึ่งมีส่วนสำคัญที่สุดในการให้กำลังใจผู้ป่วยเลิกเสพยาอย่างถาวร เข้ามามีส่วนร่วมในการทำครอบครัวบำบัดประมาณ 7-8 ครั้ง ระหว่างที่ผู้ป่วยบำบัดรักษา โดยให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องปัญหายาเสพติดรวมทั้งผลกระทบและแบบแผนการดำเนินชีวิตหลังผ่านการบำบัด

สำหรับในกลุ่มของผู้ป่วย ได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระดมสมองและร่วมกันตั้งกฎเหล็ก 6 ข้อที่ทุกคนต้องเคร่งครัดปฏิบัติตามในการใช้ชีวิตร่วมกัน คือ 1.ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด 2.ไม่ทะเลาะวิวาท 3.ไม่มีเพศสัมพันธ์ 4.ห้ามลักขโมย 5.ไม่ออกนอกสถานบำบัด 6.พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น โดยทุกเช้าจะมีการฝึกสติ หลังเคารพธงชาติ และก่อนนอนทุกวัน และฝึกทำสมาธิขณะทำกิจกรรมกลุ่มทุกประเภท สวดมนต์ทุกวันพระใหญ่ ซึ่งจะให้ผลในด้านการสร้างพลังความเข้มแข็งจิตใจ การดำเนินชีวิตอย่างมีสติ โดยแผนดำเนินการต่อไป รพ.จะสร้างอาชีพให้ผู้ผ่านการบำบัดที่ยังไม่มีอาชีพ และส่งฝึกงานในสถานประกอบการต่างๆ ใน จ.สุราษฎร์ธานีและใกล้เคียงด้วย