ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขชี้ต้นปีงบประมาณ 2562 เริ่มคิกออฟใช้ฐานข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ ชี้การเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพทางอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นประโยชน์ต่อตัวคนไข้กรณีต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่ไม่เคยใช้บริการมาก่อน ย้ำข้อมูลจะได้รับการคุ้มครองและใช้เฉพาะโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองและจัดการข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล พ.ศ.2561 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ว่า ระเบียบดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยในโรงพยาบาลที่ไม่เคยเข้ารับบริการและมีประวัติทางการแพทย์อยู่ก่อน เช่น กรณีที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือกรณีผู้ป่วยแพ้ยาบางชนิดแล้วเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมา แพทย์ก็สามารถดึงข้อมูลฐานข้อมูลมาช่วยพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมได้

อย่างไรก็ดี ตามระเบียบดังกล่าว ผู้ป่วยต้องเซ็นยินยอมเปิดเผยข้อมูลสุขภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งข้อมูลด้านสุขภาพนี้จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ และได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวดตามกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์การใช้ข้อมูลจะมี 4 ด้านคือเพื่อประโยชน์ของเจ้าของข้อมูล ประโยชน์ของสถานบริการ ประโยชน์ของผู้ใช้ข้อมูลและประโยชน์ของผู้กำกับดูแล

“กรณีเพื่อประโยชน์ของเจ้าของข้อมูล ก็เหมือนที่ยกตัวอย่างข้างต้น ถ้าผู้ป่วยเซ็นยินยอมไว้ แพทย์ก็สามารถดึงข้อมูลมาใช้และทราบว่ามีการแพ้ยาบางชนิด การรักษาก็จะหลีกเลี่ยงยาตัวนั้น แต่ถ้าไม่เซ็นยินยอมเปิดเผยข้อมูล แพทย์ผู้ทำการรักษาก็จะไม่ทราบ” นพ.โอภาส กล่าว

หรือในส่วนของประโยชน์ของสถานพยาบาล ผู้ใช้ข้อมูล หรือผู้กำกับดูแล เช่น การนำข้อมูลการเจ็บป่วยของประชาชนไปวิเคราะห์เชิงนโยบาย อาทิ ข้อมูลการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน ก็สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยกี่คน ต้องมีมาตรการป้องกันอย่างไร ต้องเตรียมงบประมาณจำนวนเท่าใดเป็นต้น ซึ่งกรณีเหล่านี้จะเป็นการดูข้อมูลในภาพรวม ไม่มีการเปิดเผยว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นของผู้ป่วยคนใดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ระเบียบดังกล่าวจะบังคับใช้เฉพาะสถานบริการในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีผลในอีก 120 วันหรือประมาณต้นปีงบประมาณ 2562 โดยขณะนี้แต่ละหน่วยงานจะเตรียมพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับระบบ อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขเองยังจะมีการทำ Hospital Accreditation (HA) ในด้านข้อมูลสารสนเทศเพิ่มขึ้นมาอีก เพื่อให้มีมาตรฐานรองรับการดำเนินนโยบายดังกล่าว