ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ร่วมมือกับสมาคมจิตแพทย์ ออกคำแนะนำสื่อมวลชนที่จะสัมภาษณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีภายหลังออกมาจากถ้ำแล้ว ขอให้ใช้คำถามเชิงบวก เพื่อร่วมกันฟื้นฟูสภาพจิตใจ ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเด็กทุกคนได้เร็วและดีขึ้น ไม่ควรสัมภาษณ์คนเดียวกันซ้ำๆ และไม่ควรใช้คำถามจี้อารมณ์ความรู้สึกของเด็กขณะเผชิญภัยในถ้ำ เพราะจะเป็นการซ้ำเติมความหดหู่ทางจิตใจ และเกิดความเครียดขึ้นอีก

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการดูแลจิตใจครอบครัวและการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 13 คนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย จนประสบผลสำเร็จ ทุกคนรอดชีวิต ว่า ต้องขอแสดงความชื่นชมทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติการครั้งนี้ โดยเฉพาะสื่อมวลชนทุกแขนงที่ทำบทบาทเป็นสื่อกลางช่วยกันนำเสนอข่าววิกฤติ อันนำมาสู่ความช่วยเหลือจากทั่วประเทศและทั่วโลก สามารถก้าวผ่านวิกฤติได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเด็กๆ และโค้ชที่ได้รับการช่วยเหลือออกมายังอยู่ในช่วงที่ต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจอีกช่วงเวลาหนึ่งตามแผนที่ทุกฝ่ายได้เตรียมการรองรับไว้

กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงในเรื่องความสนใจในการติดตามข่าวตลอดจนการทำข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของสภาพจิตใจของเด็กได้โดยไม่ได้ตั้งใจ กรมสุขภาพจิตจึงร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดทำคำแนะนำแนวทางการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยของสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ (retraumatization) ของทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ซึ่งจะช่วยให้การฟื้นตัวก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวโดยเร็ว และกลับสู่โรงเรียนและเล่นกีฬาได้ตามปกติ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยหลังจากนี้ แนะนำให้ยึดแนวทาง 2 ประการ คือ 1.ควรทำหลังจากที่ผู้ประสบภัยได้พักและได้รับการปลอบใจจากครอบครัวเป็นส่วนตัวจนสภาพร่างกายและจิตใจฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ก่อน 2.ในการสัมภาษณ์ควรมุ่งไปที่มุมมองด้านบวก เช่น วิธีปลุกปลอบใจกัน ให้กำลังใจกันในกลุ่ม วิธีการสร้างความหวังให้ตัวเองและเพื่อน ซึ่งจะทำให้ผู้เล่าเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเองและเพื่อนๆ จะส่งผลให้จิตใจฟื้นตัวได้รวดเร็วและส่งผลไปถึงทางการฟื้นตัวทางกายด้วย ประการสำคัญสามารถจดจำประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้ไปใช้ในเหตุการณ์คับขันอื่นๆ ได้ในอนาคต ขณะเดียวกันจะส่งผลให้ประชาชนที่ติดตามข่าวได้เรียนรู้วิธีการเอาชีวิตรอดเมื่อเผชิญเหตุวิกฤติทั้งแบบหมู่หรือคนเดียวได้ เป็นประโยชน์ของการเรียนรู้จากสื่อสาธารณะไปพร้อมๆกัน

ด้าน นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ควรทำ มี 2 ประการ ได้แก่ 1.ไม่ควรถามเพื่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกด้านลบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ควรสัมภาษณ์คนเดียวซ้ำๆ เนื่องจากเวลาเล่าจะไปกระตุ้นให้ระลึกถึงเหตุการณ์ด้านลบนั้นซ้ำๆ เป็นผลเสียอย่างมากต่อเด็กๆ ที่ถูกสัมภาษณ์ ทำให้เกิดอาการหวาดกลัว ตกใจ จิตใจหดหู่ขึ้นมาอีก โดยเฉพาะยิ่งหากมีการสัมภาษณ์ซ้ำๆ จะทำให้เครียดมาก เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของจิตใจ และอาจมีผลให้เกิดอาการเครียดเรื้อรัง

2.ไม่ควรนำเสนอข่าวที่สมจริงสมจัง ตื่นเต้นมากเกินควร เพราะจะกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วมตามไปด้วย เมื่อชมมากๆ หรือบ่อยๆ จะเกิดอาการทางจิตใจเหมือนผู้ประสบเหตุการณ์ได้ บางคนเกิดอาการได้มากเหมือนตัวเองกำลังเผชิญภัยพิบัติจริงๆ หากเป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์ประสบภัยในอดีตอาจเกิดภาวะซ้ำเติมทางจิตใจได้เช่นกัน

ทั้งนี้ในการนำเสนอข่าววิกฤติ หากมีการสอดแทรกเสนอเรื่องผ่อนคลาย เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศด้วยและเสนอทางออกทางแก้ไข คำแนะนำด้านสุขภาพจิตด้วยจะเป็นผลดีต่อจิตใจ ไม่เครียดจนเกินไป