ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ลงนามความร่วมมือองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก ยกคุณภาพระบบบริการสุขภาพจิตในระดับภูมิภาค พบประชาชนมีปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมประมาณ 450 ล้านคน โดยเป็นศูนย์อบรมนานาชาติสร้างความเชี่ยวชาญ ทั้งแพทย์ พยาบาลให้กับประเทศสมาชิก 10 ประเทศ จำนวน 3 หลักสูตร คือ การดูแลเด็กเล็กที่มีพัฒนาการล่าช้า พยาบาลจิตเวชและจิตเวชชุมชน ในช่วง 2 ปีแรก ตั้งเป้า 150 คน ใช้งบดำเนินงาน 10 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ที่โรงแรมปรินซ์พาเลช กรุงเทพมหานคร ในงานประชุมสัมมนาพัฒนากลไกการดำเนินงานสุขภาพจิตในระบบบริการปฐมภูมิด้วยพลังเครือข่ายภาคประชาชน นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านสุขภาพจิต ระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขกับ นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก (The Memorandum of Understanding signing ceremony between The World Health Organization for The South East-Asia Region (WHO SEARO) and The Department of Mental Health, Ministry of Public Health) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการ ส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้กับประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก ซึ่งมี 11 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฎาน เกาหลี อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา ติมอร์ตะวันออก รวมทั้งไทย ซึ่งมีประชากรประมาณ 1,600 ล้านคน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามบันทึกความเข้าใจที่ลงนามครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่กรมสุขภาพจิตได้ขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตของประเทศไทยขึ้นสู่ระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านสุขภาพจิต โดยในช่วง พ.ศ. 2561-2562 มีความร่วมมือทางวิชาการในสาขาที่กรมสุขภาพจิตมีความเชี่ยวชาญ เพื่อดำเนินการฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรด้านสุขภาพจิตให้แก่ประเทศสมาชิก จำนวน 3 หลักสูตร คือ

1. หลักสูตรสุขภาพจิตชุมชน อบรมแพทย์ทั่วไป พยาบาลหรือบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน ปีละ 30 คน ระยะเวลา 4 สัปดาห์ อบรมที่ส่วนกลาง

2. หลักสูตรการดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า มุ่งเน้นการดูแลในระดับปฐมภูมิ โดยเน้นการตรวจหาความผิดปกติและกระตุ้นแก้ไขพัฒนาการให้กลับมาสมวัยอย่างรวดเร็ว ปีละ 15 คน ใช้เวลาอบรม 4 สัปดาห์ ดำเนินการที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่

และ 3. หลักสูตรพยาบาลจิตเวช อบรมพยาบาลให้มีความรู้เฉพาะทางด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผู้ที่มีปัญหาผิดปกติทางพฤติกรรม ระยะเวลา 16 สัปดาห์ ปีละ 30 คน อบรมที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ รวม 2 ปี จำนวน 150 คน ใช้งบประมาณรวม 291,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านบาทเศษ

ด้าน นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก รายงานในปี 2560 พบว่าบุคลากรด้านสุขภาพจิตในภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยระดับโลก พบมีจิตแพทย์เฉลี่ย 0.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 1.3 คนต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนพยาบาลจิตเวชเฉลี่ย 0.8 คนต่อประชากรแสนคน ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 3.5 ต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่ในภูมิภาคนี้พบประชากรมีปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมประมาณ 450 ล้านคน เป็นโรคจิตเภทประมาณ 25 ล้านคน โรคลมชักประมาณ 50 ล้านคน ดื่มเหล้าและใช้สารเสพติดกว่า 90 ล้านคน ข้อมูลในปี 2559 มีอัตราการฆ่าตัวตาย เฉลี่ย 13.4 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งสูงที่สุดในโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 10.5 ต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนไทยอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากร 1 แสนคน

ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตได้จัดหลักสูตรอบรมนานาชาติสาขาสุขภาพจิตชุมชน ให้แก่ แพทย์ พยาบาลในประเทศภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้สำเร็จไปแล้ว 264 คน รุ่นละประมาณ 40 คน สามารถนำความรู้กลับไปใช้ในประเทศอย่างดี และไทยยังมีผลงานการพัฒนานวตกรรมตรวจคัดกรองเด็กพัฒนาการล่าช้าที่ได้รับรางวัลจากองค์การสหประชาชาติ ในปี 2556 ส่งผลให้ไทยสามารถพบเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบมีพัฒนาการล่าช้าร้อยละ 15 และให้การกระตุ้นให้กลับมาสมวัยสูงกว่าร้อยละ 90