ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฐ.จับมือ สสส.และเครือข่ายงดเหล้า เดินหน้าผลักดันการสร้างภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สร้างสำนึกให้เด็กไทย พร้อมรณรงค์ส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษามีพฤติกรรมลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ เป็นแบบอย่างที่ดี หวั่น ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำการตลาดแฝงกับระบบการศึกษา ส่งผลให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มเยาวชนจากโครงการโพธิสัตว์น้อย ฯ เขียน “จดหมายสื่อรัก” จะเป็นเด็กดี วอน.ขอพ่อแม่คืนความสุขให้ลูกด้วยการงดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ เพื่อสร้างความรักให้ครอบครัวมีความอบอุ่น ส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาที่ดีได้

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ณ กระทรวงศึกษาธิการ รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวและพิธีลงนามความร่วมมือ ในโครงการ “โพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ครบพรรษา” โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายงดเหล้า, เครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน, และเครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข และภาคี โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเครือข่ายต่างๆ เน้นส่งเสริมผลักดันให้ระบบการศึกษาเป็นช่องทางที่จะเชื่อมต่อประสานสถาบันครอบครัวเพื่อเป็นแรงเสริมการขับเคลื่อนให้เกิดความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว ส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาของนักเรียน เป็นการสกัดนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะร่วมกันเขียน “จดหมายสื่อรัก” โพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่งดเหล้าครบพรรษา โดยตั้งสัจจะอธิษฐาน (เว้นขาดจากเหล้า เบียร์ จะเป็นลูกศิษย์ที่ดี) และอ่านจดหมายสื่อรัก ร่วมสร้างสังคมปลอดภัยให้เด็กๆ ในช่วงเข้าพรรษานี้ และนำจดหมายมอบแด่กระทรวงศึกษาธิการต่อไป

ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อปี 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศไปยังสถานศึกษาเรื่องมาตรการสถานศึกษาปลอดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยขอความร่วมมือให้ครูสื่อสารไปยังนักเรียนและชุมชน และในช่วงเข้าพรรษาของทุกปีจะร่วมมือกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการสื่อสารผ่านคุณครู ให้เด็กเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองให้งดเหล้า โดยปีนี้จะใช้วิธีการเขียน “จดหมายสื่อรัก” ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้เรื่องการเขียนของเด็กๆ และเรียนรู้ภาษาไทยไปด้วย เด็กๆ จะซึมซับเรื่องโทษภัยของเหล้า จากนั้นจึงนำจดหมายไปให้คุณพ่อคุณแม่ถ้าทำได้ทั่วประเทศ เชื่อมั่นว่าการป้องกันอุบัติเหตุหรือเรื่องอะไรต่างๆ ในช่วงเข้าพรรษาจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนบทบาทหน้าที่ที่จะช่วยกันในเรื่องงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ ครูควรเริ่มที่ตัวเองก่อน ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนกว่าสามหมื่นแห่ง จะมีมาตรการขอความร่วมมือ และประชาสัมพันธ์กับเพื่อนครู ผ่านช่องทางสื่อของ สพฐ. ในรายการ พุธเช้าข่าว สพฐ.อีกด้วย

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า พ่อแม่ย่อมรักลูกมากกว่าทรัพย์สินใดๆ และอยากมอบสิ่งดีๆ ให้แก่ลูก อยากทำให้ลูกมีความสุข เติบโตเป็นคนดี เป็นคนเก่ง ดังนั้นการที่กระทรวงศึกษาฯ หากลวิธีให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้จนสามารถป้องกันหรือลด-ละ-เลิกเหล้า บุหรี่ และอบายมุขต่างๆ ได้สำเร็จ โดยให้นักเรียนเขียนจดหมายขอให้พ่อแม่งดเหล้า นับว่าเป็นกุศโลบายที่ดีมากในการดลใจให้พ่อแม่ฉุกคิดถึงความจำเป็นที่จะต้องเลิกดื่มเหล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเข้าพรรษาสามเดือน หากพ่อแม่ทดลองเลิกดื่มสามเดือนในช่วงเข้าพรรษาอาจทำให้พ่อแม่ได้สัมผัสชีวิตที่ดีกว่าการดื่มเหล้า อาจนำไปสู่การตัดสินใจเลิกเหล้าตลอดชีวิตต่อไป

สังคมในอนาคตจะดีมากหากเด็กๆ จะเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เลิกดื่มเหล้า ปัญหาเหล้า บุหรี่ และอบายมุขต่างๆ เป็นปัญหาที่สำคัญมาก ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลทางศาสนา แต่เป็นเพราะการก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและสังคมจนเป็นที่ประจักษ์ เช่น เหล้าเป็นเหตุให้เกิดภาระโรคสูงสุดในบรรดาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในกลุ่มเพศชาย บุหรี่เป็นเหตุให้คนเสียชีวิตสูงสุดในบรรดาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมทั้ง การพนันก่อให้เกิดการก่ออาชญากรรมตามมาอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการแข่งบอลระดับโลก เป็นต้น

นายเดช ศิรินาม ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ว่า วันเข้าพรรษาถือเป็นช่วงสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่จะได้ปฏิบัติตนในศีล ลด ละ เลิกเหล้า อบายมุข และสิ่งเสพติดทั้งปวง จากโครงการโพธิสัตว์น้อย ขอพ่อแม่เลิกเหล้า เป็นโครงการที่ทางเชียงใหม่เขต 1 ได้เห็นชอบและดำเนินการไปยังโรงเรียนในสังกัด โดยให้ดำเนินการทำโครงการให้นักเรียนเขียนจดหมายเชิญชวนผู้ปกครองให้ละ เลิกเหล้าและสิ่งเสพติดต่างๆ ซึ่งจะนำมาสู่สุขภาพและชีวิตที่ดี ทั้งนี้ทางโรงเรียนต่างๆ ก็จะมีการทำจดหมายเพื่อส่งไปเชิญชวนร่วมด้วยอีกทาง และมีความเชื่อมั่นว่าถ้าสามารถทำโครงการฯ อย่างต่อเนื่องจะสามารถช่วยให้เด็ก และครอบครัวตลอดจนชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

รศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอมาตยกุล กล่าวถึงจิตวิทยาแนวใหม่ (NLP) ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับจิตใต้สำนึกของมนุษย์ เนื่องจากข้อมูลต่างๆ ที่ลูกบันทึกไว้ในจิตใต้สำนึก ที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัส โดยเฉพาะทางตาและทางหูในวัยเด็ก จะค่อยๆ ซึมซับเข้ามาในจิตใจทีละน้อย และติดตัวเป็นพฤติกรรมในที่สุด พลังแห่งความรักเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังแห่งความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก และลูกมีต่อพ่อแม่ ถ้าลูกๆ ได้ส่งพลังแห่งความรัก ความห่วงใย ผ่านจดหมายสื่อรักไปยังคุณพ่อคุณแม่ ที่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ และคุณพ่อคุณแม่มีจิตใจที่ละเอียดอ่อนพอที่จะรับพลังแห่งความรักความห่วงใยนั้นได้ พฤติกรรมในทิศทางที่ดีขึ้นของคุณพ่อคุณแม่ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

พฤติกรรมของผู้ใหญ่ คือ บทเรียนที่ดีที่สุดของเด็ก พฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่สำคัญที่สุดต่อเด็ก คือพฤติกรรมของพ่อ แม่ ครู อาจารย์ ถ้าจะไม่ให้เด็ก ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ก็จะต้องไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ก่อน ทำได้เพียงเท่านี้ นักดื่ม/นักสูบหน้าใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาของชาติในปัจจุบันก็จะลดน้อยลงไปอย่างมากชนิดที่เราคาดไม่ถึง

ทางด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การรณรงค์ในช่วงเข้าพรรษาทางเครือข่ายงดเหล้าได้รับความร่วมมือจัดกิจกรรม ร่วมกับ สพฐ.ในทุกปี การเขียนจดหมายสื่อรัก ถือว่าใช้ระบบการศึกษาช่วยสอนเป็นการเน้นย้ำ ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้ และเข้าใจ ถึงโทษภัย ย่อมเป็นสิ่งหนึ่งที่ระบบการศึกษาจะช่วยได้เป็นอย่างดี

“ส่วนธุรกิจแอลกอฮอล์ ก็ยังมีความพยายามรุกคืบ แทรกซึมเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้เด็กได้ใกล้ชิด ได้สัมผัสตั้งแต่อายุยังน้อย สร้างภาพจดจำที่ดี ซึ่งเครื่องมือการตลาดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การสร้างภาพลักษณ์ โดยธุรกิจแอลกอฮอล์ได้สนับสนุนกิจกรรมของนักเรียน ประเภท กีฬา ดนตรี กิจกรรมอาสา ทุนการศึกษา การบริจาค เป็นต้น ตัวอย่างกรณีกีฬา เช่น การจัดแข่งขันกีฬา จัดอบรมนักกีฬา เป็นสปอนเซอร์กีฬา รวมถึงการมีเสื้อที่ติด โลโก้คล้ายเบียร์ เพื่อสร้างการยอมรับให้แก่สินค้าทั้งสิ้น เป็นการปลูกฝังทัศนคติที่ดี และนำไปสู่การเลือกที่จะดื่ม ดังนั้นการปลูกฝังทัศนคติที่ไม่ดีต่อแอลกอฮอล์และเลือกที่จะไม่ดื่มนั้น ต้องต่อสู้กับกระแสการโฆษณาของธุรกิจอย่างมาก ประกอบกับค่านิยมในสังคม รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่มีส่วนส่งเสริมค่านิยมนี้ด้วย” นายธีระกล่าว