ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ประกาศอีก 180 วัน ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย อาหารที่มีกรดไขมันทรานส์ เหตุมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย

โดยปรากฎหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย

ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2561

ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ไขมันทรานส์ เป็นไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีโครงสร้างชนิดทรานส์ (trans) พบได้ในปริมาณเล็กน้อยตามธรรมชาติในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ นอกจากนี้ไขมันทรานส์ยังได้จากการสังเคราะห์ระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร โดยการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืช ทำให้น้ำมันพืชแข็งตัวมากขึ้น นิยมใช้โดยผู้ผลิตอาหารเนื่องจากเก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไข ทนความร้อนได้สูง และมีรสชาติใกล้เคียงกับไขมันจากสัตว์ แต่จะมีราคาที่ถูก

เนื่องจากไขมันทรานส์คือไขมันที่เกิดจากการแปรรูป จึงสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไข และสามารถทนความร้อนได้สูง รวมถึงมีรสชาติที่ใกล้เคียงกับไขมันที่มาจากสัตว์ แต่จะมีราคาที่ถูกกว่า บรรดาผู้ประกอบกิจการอาหารต่าง ๆ มักนิยมนำไขมันทรานส์มาใช้ประกอบอาหารมากมาย เช่น กลุ่มอาหารฟาสต์ฟู้ดซึ่งใช้เป็นน้ำมันสำหรับทอดไก่ มันฝรั่ง โดนัท หรือการนำมาใช้ในการประกอบกิจการเบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม และวิปปิ้งครีม เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชื่นชม สธ.แบน ‘ไขมันทรานส์’ เชื่อคนไทยป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดลดน้อยลง

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : ไขมันทรานส์กับโรคหัวใจ