ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Wand DD กับ Hu FB จาก Harvard School of Public Health ได้ทำการรีวิวข้อมูลวิชาการอย่างละเอียดครอบคลุมเกี่ยวกับการบริโภคไขมันกับเรื่องโรคหัวใจ ตีพิมพ์ใน Annual Review of Nutrition ปี 2017

เกี่ยวกับไขมันทรานส์นั้น มีงานวิจัยจำนวนมากที่พยายามศึกษาผลของการบริโภคไขมันทรานส์กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และการตายจากโรคหัวใจขาดเลือด โดยงานวิจัยมีหลายเกรด ตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงระดับที่น่าเชื่อถือ

หากเอาเฉพาะข้อมูลวิจัยที่มีรูปแบบการศึกษาที่น่าเชื่อถือคือ การศึกษากลุ่มประชากรแบบติดตามไปข้างหน้า (prospective study) จะสรุปได้ง่ายๆ ว่า

หนึ่ง ไขมันทรานส์จะส่งผลให้ไขมันเลว (LDL) สูงขึ้น และไขมันดี (HDL) ลดลง และส่งผลให้สัดส่วนของไขมันคอเลสเตอรอลรวมต่อไขมันดี (TC/HDL) สูงขึ้น ซึ่งไอ้เจ้าสัดส่วนนี้ได้รับการศึกษามาแล้วว่าเป็นตัวที่ใช้ทำนายว่าจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้

สอง หากรู้ลึกๆ จะพบว่าไขมันทรานส์นั้นมีหลายรูปแบบ รูปแบบที่ร้ายนั้นมักเป็นประเภท 18:1, 18:2 isomers โดย 18:2 นั้นร้ายกว่า 18:1 และพวกนี้มักเกิดจากการผลิตของวงการธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารที่ทำกระบวนการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืช เพื่อหวังผลเรื่องผลผลิตที่เกิดจากการกระบวนการนี้ ในขณะที่อาหารตามธรรมชาติก็มีไขมันทรานส์เช่นกัน เช่น พวกนมทั้งหลาย แต่มักเป็นไขมันทรานส์ที่อยู่ในรูปแบบ 16:1n-7 isomer ซึ่งหลายงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด แต่อาจเกิดประโยชน์หลายทาง เช่น ลดอัตราการผลิตไขมันของตับ และเพิ่มความไวต่อฮอร์โมนอินซูลินของกล้ามเนื้อ

อย่างไรก็ตามก็ยังฟันธงไม่ได้ว่าประโยชน์ดังกล่าวนั้นเกิดจากตัวไขมันทรานส์ 16:1n-7 เอง หรือจากสารอื่นในนม เช่น วิตามินดี เกลือแร่ แกงกลิโอไซด์ หรืออื่นๆ

ดังนั้นการแบนไขมันทรานส์ในวงการอุตสาหกรรมอาหารนั้นก็น่าจะดี และน่าจะส่งผลดีต่อการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดในประชากรของประเทศ แต่อย่าลืมว่าโรคหัวใจขาดเลือดนั้นเกิดจากหลายสาเหตุมาก ไม่ใช่แค่ไขมันทรานส์นะครับ

เราจึงไม่สามารถตั้งความหวังอันสูงสุดไว้กับการแบนไขมันทรานส์ แต่ยังต้องมุ่งมั่นขันน็อตการส่งเสริมสุขภาพ ให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ดีแก่ประชาชน พร้อมกับส่งเสริมทางเลือกในการบริโภคที่ดีให้แก่ประชาชนไปด้วย

ไม่งั้นเหลียวซ้ายแลขวาจะเจอกิจการที่ทำกำไรสูง อินเทรนด์ แม้จะไร้ไขมันทรานส์ แต่ไขมัน น้ำตาล เกลือก็ยังสูงรายรอบตัว สุดท้ายก็หนีไม่พ้นโรคหัวใจขาดเลือดและพรรคพวกอยู่ดี

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.ประกาศอีก 180 วัน ห้าม ผลิต นำเข้า จำหน่ายอาหารที่มี ‘กรดไขมันทรานส์’

ชื่นชม สธ.แบน ‘ไขมันทรานส์’ เชื่อคนไทยป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดลดน้อยลง