ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตนายกสมาคมโลหิตวิทยานานาชาติ ชี้ ผู้ป่วยบัตรทองได้รับสิทธิประโยชน์รักษามะเร็งทางโลหิตวิทยาหลายรายการดีกว่า ‘ประกันสังคม-สวัสดิการข้าราชการ’ ระบุ สปสช.ไฟเขียวปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ชื่นชม ‘สิทธิบัตรทอง’ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เสนอปลดล็อคเพดานจำนวนผู้เข้าสู่การรักษารายปี

ศ.พญ.แสงสุรีย์ จูฑา

ศ.พญ.แสงสุรีย์ จูฑา อดีตนายกสมาคมโลหิตวิทยานานาชาติ อดีตนายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย และอดีตหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงการผลักดันสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตอนหนึ่งว่า ในอดีต สปสช.มีแนวคิดที่จะทำเป็นโครงการนำร่องการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell) หรือสเต็มเซลล์ ให้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานโครงการปลูกถ่ายไขกระดูกที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อราวๆ 20 ปีที่แล้ว จึงได้มีโอกาสมาร่วมประชุมพูดคุยเพื่อกำหนดเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ตั้งแต่ต้น เช่น ควรให้แก่ผู้ป่วยในกรณีใดบ้าง และควรมีข้อบ่งชี้อย่างไรบ้าง

ศ.พญ.แสงสุรีย์ กล่าวต่อว่า ในอดีตการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตยังไม่ได้รับการบรรจุลงในชุดสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยบัตรทอง เป็นเพียงโครงการนำร่อง โดยในช่วงแรกนั้นทาง สปสช.ได้จำกัดจำนวนการรักษาอยู่ที่ประมาณ 20-30 รายเท่านั้น แต่จากนั้นมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง สปสช.ได้ผลักดันมาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ แต่ก็ยังมีการจำกัดเพดานจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เพิ่มจำนวนให้มากขึ้น

“ตามหลักความจริงคือเมื่อกลายเป็นชุดสิทธิประโยชน์แล้ว คนไข้ทุกคนก็ควรจะได้รับอย่างเสมอหน้ากัน แต่สิทธิประโยชน์ในเรื่องนี้กลับยังมีการจำกัดจำนวนคนไข้อยู่ เช่น ให้ได้ 60-70 รายต่อปี ส่วนตัวคิดว่าถ้าได้รับบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์แล้วก็ไม่ควรได้รับการจำกัดจำนวนการรักษา แต่ก็เข้าใจว่าการรักษาใช้งบประมาณสูง เฉลี่ยแล้วประมาณรายละ 8 แสนบาท จึงจำเป็นต้องมีการจำกัดอยู่ จึงหวังว่าในอนาคต สปสช.จะให้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้โดยไม่มีการจำกัดจำนวนคน” ศ.พญ.แสงสุรีย์ กล่าว

อดีตนายกสมาคมโลหิตวิทยานานาชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวเข้าถึงการรักษามากขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังมีประเด็นเรื่องของความครอบคลุมอยู่ ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท และแต่ละประเภทก็จะแบ่งออกเป็นหลายชนิด โดยมีอยู่หลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับ B-cell ซึ่งปัจจุบันมียาที่จะเข้าไปทำลาย B-cell โดยตรงแล้ว และ สปสช.กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็ได้อนุมัติให้ผู้ป่วยใช้ยาชนิดดังกล่าวได้แล้ว แต่ประเด็นก็คือใช้ได้เฉพาะกับชนิดเดียวเท่านั้น ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดก็มี B-cell อยู่ด้วยเช่นกัน แต่การให้ยากลับยังไม่ครอบคลุมมะเร็งเหล่านั้น

“ในโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยานั้น พบว่าสิทธิประโยชน์ในหลายโรคของ สปสช.ดีกว่าของประกันสังคม ยกตัวอย่างคนไข้มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ (Chronic Myeloid Leukemia) ซึ่งในอดีตการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้คนไข้หายขาดได้ แต่นับจากปี 2544-2545 เป็นต้นมา พบว่ามียาที่ใช้ได้ดีมาก จากเดิมที่คนไข้จะอยู่ได้ราวๆ 7-8 ปี หากได้รับยาตัวนี้จะอยู่ได้ถึง 30 ปี สบายๆ แต่ยาในกลุ่มนี้ค่อนข้างมีราคาแพง ซึ่งตนเองได้ผลักดันจนมีโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติ (GIPAP) ขึ้น และทำให้ผู้ป่วยบัตรทองได้รับยานี้ทั้ง 400 มิลลิกรัม 600 มิลลิกรัม และ 800 มิลลิกรัม ตามระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งเทียบแล้วดีกว่าสวัสดิการข้าราชการที่ให้เพียง 400 มิลลิกรัม และประกันสังคมที่เพิ่งมาให้สิทธิในปี 2555 ทั้งที่ยาเข้าสู่บัญชี จ.2 ตั้งแต่ปี 2551 โดยให้เพียง 400 มิลลิกรัมเท่านั้น” ศ.พญ.แสงสุรีย์ กล่าวและว่า แต่เป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงข้อบ่งชี้เมื่อต้นปีนี้ ทำให้ผู้ป่วยทั้ง 3 สิทธิ สามารถได้รับยาทั้ง 3 ขนาดได้แล้ว

ศ.พญ.แสงสุรีย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกอย่างของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตคือการหาผู้บริจาคที่เหมาะสม เนื่องจากพี่น้องพ่อแม่เดียวกันมีโอกาศที่จะมีเนื้อเยื่อ (HLA) เข้ากันได้มีเพียงรอยละ 25 เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องหาผู้บริจาคจากแหล่งอื่น ซึ่งทางศูนย์บริการโลหิตสภากาชาดไทย มีบริการหาผู้บริจาคที่เหมาะสมได้ ขณะนี้ทางสปสช.อนุมัติให้ทำได้เฉพาะผู้บริจาคที่เป็นพี่น้องกันเท่านั้น ในอนาคตหวังว่าทาง สปสช.จะขยายให้ทำได้ในกรณีที่ไม่ใช่พี่น้องกันได้ (Matched Unrelated Donor, MUD)

ศ.พญ.แสงสุรีย์ กล่าวต่อไปว่า อยากขอบคุณ สปสช.ที่ทำให้ผู้ป่วยซึ่งปกติแล้วเข้าไม่ถึงวิธีการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่ผู้ป่วยจะแบกรับไหว ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยในประเทศไทยที่อยู่ในระบบบัตรทองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงอยากขอขอบคุณ สปสช.แทนผู้ป่วยทุกรายได้ที่รับผลประโยชน์นี้ด้วย