ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” แนะประชาชนดูแลสุขภาพ คุม 7 ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ควบคู่ประกาศห้ามไขมันทรานส์ หวั่นผู้ประกอบการโหนกระแส เบเกอรี่ไร้ไขมันทรานส์ ทำอัตราบริโภคเพิ่มจนกระทบสุขภาพ ระบุ สธ.ต้องแจงชัด ไขมันทรานส์เป็นเหตุหนึ่งก่อโรค มีความเสี่ยงอื่นทั้งอาหารและพฤติกรรมต้องหลีกเลี่ยงเพิ่ม

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การประกาศห้ามผลิตและนำเข้าไขมันทรานส์นับเป็นนโยบายที่ดี โดยมุ่งหวังเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีหลายงานวิจัยยืนยันแล้วว่า เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ไขมันทรานส์มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ ไขมันทรานส์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตโดยอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขนี้ได้มุ่งไปที่ไขมันทรานส์ที่ผลิตโดยอุตสาหกรรมที่ขณะนี้กำลังเป็นปัญหาหนักระดับโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) เองยังได้รณรงค์ให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกการใช้ไขมันทรานส์ประเภทนี้ ขณะที่ไขมันทรานส์ที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์นม ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงเช่นเดียวกับไขมันทรานส์ผลิตโดยอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม ในต่างประเทศได้มีประกาศห้ามผลิตและนำเข้าประเทศมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ประเทศไทยเพิ่งมีการสั่งห้าม แม้ว่าจะเดินช้ากว่าประเทศอื่นๆ มาเป็น 10 ปี แต่ส่วนตัวมองว่ายังเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเหตุผลของความล่าช้า คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกประกาศ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องมีการวางแผนรองรับและเพื่อให้มั่นใจได้ว่า เมื่อประกาศแล้วจะบังคับได้จริงและไม่ส่งผลกระทบในด้านต่างๆ

ยกตัวอย่าง หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศห้ามผลิตและนำเข้าไขมันทรานส์แล้ว ปรากฎว่าทั้งธุรกิจรายใหญ่และรายย่อยต่างออกมาระบุว่า จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มสูงขึ้นและต้องมีการปรับราคาเพิ่ม เป็นต้น จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องวางมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบก่อน และคงต้องประสานกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ขยับสูงจนเกินไป

นอกจากนี้จากผลการออกประกาศฉบับนี้ ยังปรากฎผู้ประกอบการที่โหนกระแส โดยโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น กลุ่มเบเกอรี่ที่ระบุว่าปราศจากไขมันทรานส์เพื่อหวังผลทางการตลาดโดยเพิ่มยอดขาย ซึ่งประกาศฉบับนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการป่วยจากโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่การโฆษณาดังกล่าวที่ชี้ว่าไม่มีไขมันทรานส์ที่เป็นอันตราย อาจทำให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาคือการก่อให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคเรื้อรังอื่นตามมา รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งการหลีกเลี่ยงโรคเหล่านี้คือต้องบริโภคอย่างพอเหมาะ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า การออกประกาศห้ามผลิตและนำเข้าไขมันทรานส์นั้น กระทรวงสาธาณสุขต้องชี้แจงกับประชาชนให้ชัดเจนว่า การห้ามผลิตและนำเข้าไขมันทรานส์เป็นเพียงแค่การลดหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจเท่านั้น ซึ่งประชาชนยังต้องควบคุมอีก 7ปัจจัยเสี่ยงควบคู่ จึงจะหลีกเลี่ยงภาวะโรหลอดเลือดหัวใจได้อย่างมีประสิทธิผล คือ

1.บุหรี่ มีงานวิจัยชัดเจนแล้วว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ 2 ซองต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจ ในผู้ชายสูงเป็น 3 เท่า และในผู้หญิงสูงเป็น 6 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนไม่สูบบุรี่ หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

2.ออกกำลังกาย ได้มีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย ความเสี่ยงต่อภาวะโรคหลอดเลือหัวใจจะเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

3.อาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อโรค โดยเฉพาะเนื้อแดงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจถึงร้อยละ 29 ขณะเดียวกันต้องกินผักและผลไม้ควบคู่ เพราะมีผลการศึกษาชี้ว่า หากคนเราลดการกินผักและผลไม้จะทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจถึงร้อยละ 14 เช่นกัน

4.น้ำหนัก ต้องควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับร่างกาย ไม่ให้เกิดภาวะอ้วน

5.ควมดันโลหิตสูง หากคนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่แล้วต้องควบคุมโดยการกินยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ

6.น้ำตาล โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจำเป็นต้องควบคุมปริมาณน้ำตาล

และ 7.ไขมัน ไม่แต่เฉพาะไขมันทรานส์ที่เป็นตัวการสำคัญเท่านั้น แต่รวมถึงไขมันอื่นเป็นส่วนเกินต่อร่างกาย

“กระทรวงสาธารณสุขต้องชี้แจงโดยให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างชัดเจนว่า การงดบริโภคไขมันทรานส์ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเลย เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ก่อให้เกิดโรคนี้ อย่าง 7 ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ไม่เพียงแต่ไม่สามารถลดอัตราการป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ยังอาจทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นได้”

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้เพื่อให้ประกาศห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายไขมันทรานส์บังคับใช้ได้จริง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีมาตรการในติดตามและประเมิน โดยการสุ่มตรวจอาหาร ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้ง่ายเพราะไม่ใช่ห้องปฏิบัติการทุกที่จะตรวจอาหารที่มีไขมันทรานส์ได้หมด แม้ว่าที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะตรวจสอบได้ แต่ก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะตรวจสุ่มอาหารทั้งประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีแผนในการรองรับ เพราะไม่เช่นนั้นผู้ประกอบอาจยังมีการทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและผู้บริโภคยังคงต้องบริโภคไขมันทรานส์ต่อไป เช่นเดียวกับกรณีการใช้น้ำมันทอดซ้ำที่ได้มีการออกประกาศห้ามผู้ประกอบการไปแล้ว

ส่วนมาตรการต่อไปเพื่อดูแลสุขภาพผู้บริโภคต่อจากนี้ ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันสูง ที่กำลังเป็นปัญหาในกระแสสังคมโลกขณะนี้ ซึ่งแนวทางการจัดการคงเป็นเรื่องอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดโรคที่ต้องมีการจัดการในระดับมหภาค ทั้งการบริโภคอาหารกลุ่มไขมันสูง ไม่มีกากใย โดยประเทศไทยมีทิศทางเหมือนประเทศตะวันตก แนวเศรษฐกิจทุนเสรีนิยม ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจอาหารที่เสี่ยงต่อการก่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD เติบโต จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุม อาทิ การควบคุมปริมาณน้ำตาลและเกลือในอาหาร เป็นต้น และที่ผ่านมามีการดำเนินการบ้างแล้ว รวมถึงการสร้างทางเลือกอาหารสุขภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีสุขภาพที่ดี