ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.ฆนัท ครุฑกุล เครือข่ายคนไทยไร้พุง เผยอันตรายจากไขมันทรานส์ ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคความจำเสื่อม, โรคเบาหวาน, โรคมะเร็งบางชนิด และโรคอ้วน

“ไขมันทรานส์” ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการพูดถึงกันมากในสังคม รวมถึงโลกโซเซียล และที่สำคัญ “ไขมันทรานส์” ยังเป็นวายร้ายที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุการตายของคนไทย รวมทั้งโรค NCDs

นพ.ฆนัท ครุฑกุล

นพ.ฆนัท ครุฑกุล เครือข่ายคนไทยไร้พุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนาการวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว จากการเรียงตัวของไฮโดรเจน อะตอมจะอยู่ตรงกันข้ามพบได้ทั้งในธรรมชาติและจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมัน

ไขมันทรานส์ ตามธรรมชาติ พบได้ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่มีปริมาณที่น้อย และไม่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ส่วนไขมันทรานส์ที่มาจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เพื่อให้มีคุณสมบัติเหมือนไขมันสัตว์ มีต้นทุนต่ำ เป็นไข ไม่เหม็นหืน เก็บได้นาน

นพ.ฆนัท เล่าว่า ที่มาของไขมันทรานส์ เกิดขึ้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลานั้นในต่างประเทศ เนยหาซื้อกันแทบไม่ได้ จึงได้มีการคิดค้นทำให้น้ำมันพืชที่เป็นของเหลวผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนเปลี่ยนจากของเหลวมาเป็นของแข็ง

แหล่งที่พบไขมันทรานส์ ได้แก่ เนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม ผลิตภัณฑ์เบเกอร์รี่ อาหารทอดแบบท่วมโดยใช้ไขมันทรานส์

“ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ ไม่ได้เป็นอันตรายเท่ากับไขมันทรานส์ในระบบอุตสาหกรรม ที่พบว่า ไขมันทรานส์อุตสาหกรรม จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังไปเพิ่ม LDL ที่เรารู้ว่าเป็นไขมันเลว เพิ่มไตรกลีเซอไรด์ และกลับไปลด HLD หรือไขมันดีแทน”

ไขมันทรานส์ ทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง ....โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคความจำเสื่อม, โรคเบาหวาน, โรคมะเร็งบางชนิด และโรคอ้วน

นพ.ฆนัท กล่าวว่า ที่มีการศึกษาในระยะแรกพบว่า ยังมีถกเถียงกันอยู่ แต่พอการศึกษาขนาดใหญ่ที่มีการศึกษาถึงอัตราการเสียชีวิต พบว่าเป็นเรื่องของอัตราการเสียชีวิตจากการที่เราบริโภคไขมันทรานส์เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาที่เรียกว่าทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงภัยของไขมันทรานส์ เริ่มแรกจะเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ล่าสุดสหรัฐอเมริกาประกาศแบนไขมันทรานส์เมื่อปีที่แล้วพึ่งครบปีเมื่อเดือนมิถุนายน เรื่องนี้ทำให้อุตสาหกรรมอาหารมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร

ในส่วนของประเทศไทยจริงๆ กำลังปรับตัวอยู่ เราพูดเรื่องนี้มาหลายปี ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีความรู้ความเข้าใจ และได้มีการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2562 เป็นต้นไป นั่นหมายถึงผลลิตภัณฑ์ใดก็ตามจะต้องไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน

นพ.ฆนัท กล่าวว่า บางคนเข้าใจว่าน้ำมันทอดซ้ำจะเกิดไขมันทรานส์ได้หรือไม่ ซึ่งน้ำมันหากเกิดการใช้ จะเกิดกลไกเป็นกระบวนการที่ Hydrogenation ไม่ได้มีการเติมไฮโดรเจน แต่กระบวนการที่เรียกว่า Oxidation เราพบว่ามันเพิ่มไขมันทรานส์ เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการที่ทอดหรือใช้น้ำมันในการทอด แต่ไม่ได้เพิ่มปริมาณมาก แต่ตัวที่น่ากลัวในการใช้น้ำมันทอดซ้ำ คือสารโคม่าหรือพวกกลุ่ม Hydrocarbon ซึ่งพวกนี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เพราะฉะนั้นน้ำมันที่ทอดซ้ำๆ จะมีปริมาณของไขมันทรานส์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เยอะมาก แต่ในส่วนที่น่ากลัวกว่าไขมันทรานส์ คือในส่วนของ Hydrocarbon

น้ำมันเป็นเรื่องที่สำคัญทุกคนบริโภค แต่น้ำมันทอดซ้ำ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โรคมะเร็งที่ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากน้ำมันที่ทอดซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่มีค่านิยมการบริโภคน้ำมันที่ผิด เช่น การบริโภคน้ำมันมะพร้าว บางคนถึงกับดื่มกันเลย ซึ่งไขมันอิ่มตัวมีผลเสียไม่ควรบริโภคมาก ควรอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม น้ำมันบางประเภทเป็นไขมันอิ่มตัวจริง อาจจะมีข้อดีกว่าอย่างอื่น แต่ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งวิเศษ เพียงแต่ว่าอาจจะทำให้ปริมาณเพิ่มขึ้นมาได้นิดหน่อย แต่ไม่ใช่ว่าเอาไปทดแทนหรือไปบริโภค

ดังนั้น ไขมันทรานส์ที่ได้จากกระบวนการทางอุตสาหกรรม ส่งผลเสียต่อสุขภาพชัดเจน หลายประเทศเริ่มมีการปรับเปลี่ยนสูตร เพราะฉะนั้นไขมันทรานส์ที่เราเจอในธรรมชาติไม่ต้องกังวล ข้อมูลทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ พบว่าไม่ได้มีผลเสียต่อในเรื่องของสุขภาพ ยกเว้นในการบริโภคในปริมาณมากๆ

นพ.ฆนัท กล่าวว่า ถ้าเราสามารถลดไขมันทรานส์ในอาหารลงได้จริงอัตราการเกิดโรคหัวใจน่าจะดีขึ้น เพราะว่าในต่างประเทศเองที่มีการประกาศลด เราพบว่าอัตราการเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือดลดลง เพราะฉะนั้นการประกาศลดมีผลดีต่อสุขภาพของคนไทยแน่นอน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง