ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.กุดบง จ.หนองคายชี้ประกวดใช้งานแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” ไม่ยาก แค่ทำงานตามปกติที่ทำอยู่แล้วไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษ ขณะที่ รพ.สต.ไทรงาม ชวนพี่น้องชาวสาธารณสุขและ อสม.สมัครประกวดกันเยอะๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานด้านสาธารณสุขสู่ไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่เอไอเอสย้ำมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว รับสมัครถึงสิ้นเดือนนี้

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 นางสมจิตร บุญยง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กุดบง จ.หนองคาย หนึ่งในหน่วยบริการที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศจากโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” เมื่อปีที่ผ่านมา กล่าวถึงการจัดกิจกรรมดังกล่าวในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 2 ว่า ในแง่ของรางวัลถือเป็นผลพลอยได้ แต่ในแง่ของการทำงานแล้วอยากเชิญชวนทุก รพ.สต.มาร่วมประกวดกันเยอะๆ เพราะแอปฯนี้ใช้งานได้จริง มีประโยชน์กับทั้ง รพ.สต.และตัว อสม. โดยในส่วนของ รพ.สต.ได้ประโยชน์ในแง่การนำข้อมูลมาใช้ต่อยอด สามารถให้คำแนะนำ ชื่นชม ให้กำลังใจ อสม.ผ่านแอปฯ ขณะที่ อสม.เองก็มีเสียงสะท้อนกลับมาว่ามีความมั่นใจในการดูแลคนไข้มากขึ้น ตัวคนไข้ในชุมชนก็ให้ความเชื่อมั่นกับ อสม.มากขึ้น

นางสมจิตร กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าประกวดในปีที่ผ่านมาว่า เดิมที รพ.สต.จะสื่อสารกับ อสม.ผ่านทางกลุ่มไลน์ แต่มีข้อจำกัดในการเก็บงาน กล่าวคือข้อมูลที่ส่งทางไลน์จะมีอายุประมาณ 1 สัปดาห์ ต่อมามีการประชาสัมพันธ์แอปฯ ดังกล่าว ทาง รพ.สต.เล็งเห็นถึงประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น ส่งรูปแล้วไม่หายเหมือนไลน์ สามารถกลับมาดึงไปใช้ได้ตลอดเวลา อสม.อยู่ที่ไหนก็ส่งข้อมูล ถ่ายรูปส่งรายงานได้ทันที ส่วน รพ.สต.ก็ได้ประโยชน์ในการเก็บงานจาก อสม. เพราะจะมีการแยกห้องสนทนาเป็นส่วนๆ ห้องประชาสัมพันธ์ ห้องนัดประชุม ห้องรับค่าป่วยการ ฯลฯ ทำให้สะดวกในการใช้ ต่างจากไลน์ที่มีอยู่ห้องเดียวใครอยากจะพูดอะไรก็พูดปนกันไปหมด ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจสมัครใช้แอปฯดังกล่าวโดยมีทีมงานจากเอไอเอสมาสอนการใช้งานให้

สำหรับลักษณะการใช้งานแอปฯ อสม.ออนไลน์ ของ รพ.สต.กุดบงนั้น นางสมจิตร กล่าวว่า ใช้ในการสื่อสารกันทุกเรื่อง ทั้งการให้ความรู้ ข่าวประชาสัมพันธ์ นัดประชุม หรือเวลา อสม.ออกเยี่ยมคนไข้ก็จะส่งรูปกลับมาให้ดู รพ.สต.ก็เก็บงานได้ ที่สำคัญคือตอบโจทย์ในการดูแลผู้ป่วยอย่างมาก เพราะเมื่อ อสม.ส่งรูปมา เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ก็จะได้ศึกษาก่อนลงไปในชุมชนว่าผู้ป่วยแต่ละคนต้องเตรียมอะไร ต้องเตรียมทีมสหวิชาชีพหรือแค่ รพ.สต.ดูแลเองได้ ถ้าเคสไหนต้องใช้ทีมสหวิชาชีพก็ประสานโรงพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือ จุดนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ในการวางแผนการดูแลได้อย่างมาก

“อสม.เรามี 100 คน เราใช้วิธีให้คนเก่งดูแลคนไม่เก่ง หาแกนนำในแต่ละหมู่บ้านเป็นตัวหลักไว้คอยสอนกัน หลังจากนั้นก็ลองสมัครเข้าร่วมประกวดดู เราถาม อสม.ว่าลองดูไหมเผื่อได้รางวัลเพราะปกติเราก็สื่อสารทางไลน์อยู่แล้ว การประกวดแบบนี้ก็ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มมากมาย แค่ทำตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น รพ.สต.ต้องส่งข่าวให้ อสม.รับทราบกี่เรื่องๆ ก็เป็นเรื่องพื้นๆ ไม่ได้ลำบากอะไร เป็นเรื่องปกติธรรมชาติที่ทำกันอยู่แล้วไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม อสม.ก็ทำงานไปปกติ” นางสมจิตร กล่าว

นางกรกมล ศรีใจมั่น

ด้านนางกรกมล ศรีใจมั่น ผู้อำนวยการ รพ.สต.ไทรงาม จ.นครปฐม อีกหนึ่งหน่วยบริการที่ได้รางวัลดีเด่นระดับประเทศในปีที่ผ่านมา กล่าวว่า สาเหตุที่ รพ.สต.ไทรงาม นำแอปฯ อสม.ออนไลน์มาใช้เพราะลักษณะของพื้นที่มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน การทำงานก็จะมีทั้งทางบกและทางน้ำ ทำให้การดูแลค่อนข้างยาก ประกอบกับระยะทางในการเดินทางของ อสม.มายัง รพ.สต.ค่อนข้างไกลประมาณ 30 กม. โดยแต่ละเดือนจะมีการประชุมกันอย่างน้อย 2-3 ครั้ง จึงนำแอปฯ อสม.ออนไลน์มาช่วยในการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทางของ อสม.ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้

“พอใช้แอปฯนี้ในการทำงาน เราสามารถติดต่อ อสม.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นข้อความตัวอักษรหรือจะเป็นการโต้ตอบสองทาง แล้วก็ใช้ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เราสามารถใช้แอปฯนี้ส่งภาพถ่ายหรือวิดีโอ ทำให้สามารถเห็นภาพคนไข้ได้ชัดเจน มีการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับ อสม.และคนไข้ได้ถูกต้อง สามารถแนะนำแก้ไขปัญหาคนไข้ได้โดยตรง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งเจ้าหน้าที่ อสม. และประชาชน”นางกรกมล กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการนัดหมายประชุมก็สามารถแจ้งนัดและอสม.ตอบกลับได้ว่ามาหรือไม่มาประชุม ถ้าไม่มาเพราะเหตุผลอะไร ทำให้ช่วยลดการใช้กระดาษลงได้ถึง 40% จากเมื่อก่อนที่ต้องปริ๊นเอกสารไว้รอ 100% ขณะเดียวกันยังสามารถแจ้งผลการประชุมให้คนที่ไม่มาได้รับทราบ ช่วยให้สื่อสารได้ไม่ตกหล่น อสม.ไม่ต้องเดินทางกลับมารับข่าวสารด้วยตัวเอง ประหยัดน้ำมันและค่าโทรศัพท์เพราะแอปฯนี้ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ดูแล อสม.ได้ดีขึ้น

นางกรกมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับประสบการณ์การประกวดในปีที่ผ่านมา ถามว่ายากหรือไม่ จริงๆแล้วเครื่องมือเหล่านี้ถ้ามีการฝึกฝนใช้งานก็ไม่ยาก รพ.สต.ไทรงาม มี อสม. 65คน ค่าเฉลี่ยอายุประมาณ 50 ปี แต่ไม่ได้บังคับให้ใช้ทั้งหมดทุกคน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละคน ถ้าคนไหนมีลูกหลานใช้สมาร์ทโฟนก็ให้ลูกหลานช่วยสอนให้หรือเป็นคนส่งข้อมูลให้ รวมทั้งจะเรียก อสม.ที่ยังใช้ไม่เป็นมาเป็นกลุ่มๆแล้วให้คนที่ใช้เป็นแล้วสอน ตลอดจนลงพื้นที่ไปฝึกจริง เวลาไปเยี่ยมไข้ติดบ้านติดเตียงก็จะทดสอบว่า อสม.จะส่งข้อมูลมาให้ รพ.สต.อย่างไร การถ่ายภาพอาการต่างๆทำอย่างไร ช่วยให้การสื่อสารทำได้เร็วขึ้นและเป็นการฝึกฝนที่ทำให้ อสม.รู้สึกสนุก

“ก็ขอเชิญชวนพี่น้องชาวสาธารณสุขและพี่น้อง อสม.ทุกท่านร่วมกิจกรรมการประกวดการใช้งานแอปฯ อสม.ออนไลน์ ในปีที่ 2 เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพอสม.ในการทำงานด้านสาธารณสุขสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเป็นการสนับสนุนการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่และอสม.เพื่อการดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการ ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ขอเชิญชวนมาร่วมกิจกรรมเยอะๆค่ะเพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและการทำงานด้านสาธารณสุข” นางกรกมล กล่าวทิ้งท้าย

นางวิไล เคียงประดู่

ด้านนางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายของ อสม.ที่จะสมัครเข้าประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ปีที่ 2 จึงอยากเชิญชวน รพ.สต.และ อสม.ทั่วประเทศให้มาประกวดโดยสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ก.ค. 2561 หรือสิ้นเดือนนี้

“เงินรางวัลรอทุกๆ ท่านอยู่ค่ะ รางวัลแบ่งเป็น 2 ระดับคือ รางวัลดีเด่นระดับประเทศ รางวัลละ 100,000 บาท 10 รางวัล และรางวัลดีเด่นระดับจังหวัด รางวัลละ 40,000 บาท จังหวัดละ 2 รางวัล กติกาง่ายๆ เราจะดูการใช้งานระหว่างวันที่ 1 ส.ค.- 30 พ.ย. 2561 พร้อมกับดูรายงานการใช้เงินเชิงคุณภาพว่าใช้งานแอปฯอสม.ออนไลน์แล้วมันดีอย่างไร มีประโยชน์กับการดูแลผู้ป่วยหรือลงไปดูแลสุขภาพคนในชุมชนอย่างไร ง่ายๆเท่านี้เอง หลังจากนั้นจะมีการประกาศผลรางวัลผู้ชนะในวันที่ 25 ธ.ค. 2561 โดยหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และ รพ.สต.ที่สนใจเข้าร่วมประกวดฯ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.ais.co.th/aorsormor และ FacebookFanpage อสม.ออนไลน์ หรือ สอบถามเพิ่มเติมที่โทร.06 2520 1999 รีบสมัครกันเข้ามาค่ะ” นางวิไล กล่าว

นางวิไล กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ชนะระดับประเทศปีที่แล้ว มีตัวอย่างดีๆเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น รพ.สต.วังประจัน จ.สตูล ได้นำเงินรางวัลส่วนหนึ่งไปจัดซื้ออุปกรณ์สมทบกองทุนกายอุปกรณ์สำหรับฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อผู้ป่วยในระยะยาว สะท้อนว่าเงินรางวัลที่ได้มานั้น ทาง อสม.วังประจันใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งในการทำงานและต่อประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีๆที่ทีมที่ชนะการประกวดได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน