ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาระที่น่าสนใจนี้ได้สกัดมาจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย วันที่ 1 สิงหาคม 2561

หนึ่ง หน่วยงานรัฐนั้นมีลักษณะตามธรรมชาติคือ การทำงานภายใต้กฎเกณฑ์ ระเบียบ พันธกิจ บทบาทหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ โดยทรัพยากรที่มีทั้งคนเงินของก็จะเป็นไปตามแผนที่นำเสนอ หากจะทำอะไรเกินกว่านั้น ก็จะประสบปัญหาเสมอ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจ หากเราจะเห็นองคาพายพของรัฐนั้นดำเนินงานแบบต่างคนต่างทำ แบบแยกส่วน ทำให้ปัญหาสำคัญๆ ที่มีในสังคมนั้นไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สอง ภาคเอกชนนั้นมีความเป็นปัจเจกสูง หากทำให้เกิดความสนใจที่จะดำเนินการใดๆ ก็มักเป็นไปได้เร็ว มีประสิทธิภาพกว่าภาครัฐ เนื่่องจากการตัดสินใจเชิงนโยบาย และการจัดการทรัพยากรนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากน้อยกว่าภาครัฐ อย่างไรก็ตามการที่เอกชนจะมาดำเนินการต่อยอดขยายผลไปในวงกว้างนั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่ยังเป็นอุปสรรค เช่น ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของหน่วยงานรัฐต่อเอกชนในเรื่องความกลัวที่จะมาขอความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อแสวงหากำไร ดังนั้นน่าจะเป็นการดี ที่หากจะนำจุดเด่นของแต่ละฝ่ายมาผสานรวมกันเพื่อขยายผลนั้น ควรจะเป็นไปในลักษณะเกิดประโยชน์ทั้งต่อรัฐ เอกชน และประชาชน และต้องทำการชี้แจงแถลงไขรายละเอียดให้โปร่งใส เป็นที่เข้าใจกันอย่างดี ก่อนจะนำไปปฏิบัติ

สาม การจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อ เช่น อ้วน เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ฯลฯ นั้น การให้ความรู้อย่างเดียวจะไม่เกิดประสิทธิภาพนัก ตราบใดที่ไม่มีมาตรการที่มาพัฒนาปัจจัยแวดล้อมทางสังคม ให้คนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งหมายรวมถึงการกิน การจับจ่ายใช้สอยสินค้าบริการ การอยู่อาศัย การคมนาคม ฯลฯ ที่จำเป็นจะต้องได้รับการขับเคลื่อนผ่านวงการธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ในสังคม ตลอดจนองคาพายพที่ทำหน้าที่ควบคุมกำกับมาตรฐาน และกระตุ้นหนุนเสริมจูงใจให้เกิดการดำเนินกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคม

สี่ ความรอบรู้ด้านสุขภาพนั้นอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ง่าย เพราะโดยแท้จริงแล้วคือผลลัพธ์ที่เราอยากให้ประชาชนมี นั่นคือความสามารถที่จะจัดการตนเองได้ ให้ตนเองสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย เวลามีปัญหาใดๆ ก็สามารถค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องได้ ทำความเข้าใจข้อมูลได้ดีโดยไม่ถูกหลอก และสามารถตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้จริง แปลง่ายๆ คือ รู้ และทำได้ถูกต้องเหมาะสม นั่นคือ ต้องก้าวข้ามการให้แต่ความรู้แบบเดิม ไปสู่

ก. การจัดการให้เกิดแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย เข้าถึงได้โดยประชาชน โดยพิจารณาให้หลากหลายและเหมาะสมกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม

ข. การจัดการให้กระบวนการสื่อสารให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

ค. การจัดการสิ่งแวดล้อมและปัจจัยแวดล้อมทางสังคมให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตที่ดีของประชาชน ทั้งในแง่สินค้า บริการ ระบบสวัสดิการสังคม ตลอดจนกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ที่จะช่วยให้สามารถทำงานดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องดังกล่าวข้างต้น ดูเหมือนว่าทุกคนทราบและเข้าใจกันว่าสำคัญมากในยุคปัจจุบันและอนาคต...แต่ก็ดูเหมือนว่า ยังไม่มีใครที่จะมาช่วยจัดการทุกอย่างให้เข้ารูปเข้ารอยได้ดังปรารถนา

ครับ...จึงเป็นที่มาของการที่เรามาลองผลักดันประเด็นนโยบายสาธารณะเรื่องนี้ เพื่อหวังจะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นตามที่มุ่งหวัง

เพื่อประเทศไทย เพื่อคนไทยของเรา

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์