ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือ 8 ร.ร.แพทย์ ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เผย 10 ปี สิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์เต้นกำเนิดเม็ดโลหิต รักษาผู้ป่วยแล้วเกือบ 400 ราย ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ลดภาระค่าใช้จ่ายค่ารักษาครอบครัว

นพ.จักรกริช โง้วศิริ

นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Hematopoietic Stem Cell Transplantation: HSCT) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานในผู้ป่วยรายที่มีข้อบ่งชี้ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าถึงการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงได้บรรจุสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามแนวทางราชวิทยาลัยแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 ที่ผ่านมาได้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้วรวมจำนวน 387 ราย โดยเป็นกรณีผู้ป่วยเด็ก จำนวน 73 ราย และกรณีผู้ป่วยผู้ใหญ่ จำนวน 314 ราย

สำหรับในปีงบประมาณ 2561 นี้ สปสช.ได้ตั้งเป้าหมายการให้บริการ จำนวน 62 ราย และหน่วยบริการได้ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยแล้วรวมจำนวน 29 ราย โดยกรณีผู้ป่วยผู้ใหญ่จำนวน 23 ราย และกรณีผู้ป่วยเด็กจำนวน 6 ราย (ข้อมูล ณ 8 มิถุนายน 2561)

นพ.จักรกริช กล่าวว่า ขณะนี้การให้บริการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนการให้บริการจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.สงขลานครินทร์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก และ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น โดยการสนับสนุนงบประมาณเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและแนวทางที่กำหนด รายละ 800,000 บาท โดยค่าชดเชยการรักษาพยาบาลดังกล่าวประกอบไปด้วย ค่า HLA Matching ค่าทำการปลูกถ่ายไขกระดูก ค่ายากดภูมิคุ้มกัน เคมีบำบัด รังสีรักษา ค่ายารักษาโรคติดเชื้อหรืออาการแทรกซ้อนในระหว่างการดูแลผู้ป่วย รวมถึงค่าติดตามดูแลผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่มีการจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล

“โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง ในอดีตมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตลงด้วยข้อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษา ภายหลังจากการแพทย์ที่พัฒนาก้าวหน้า ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้หายขาดได้โดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต แต่ยังคงมีอุปสรรคค่าใช้จ่ายการรักษาที่แพงมาก และด้วยผลการรักษาผู้ป่วยที่คุ้มค่า ดังนั้น บอร์ด สปสช.จึงได้บรรจุการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้ผู้ป่วยร่วม 400 รายได้รับการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนและผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว