ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ อบรมพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยผ่าตัดนำลูกตาออก และการใส่ตาปลอมรองรับโครงการตาปลอม ๙๙๙ ดวงตาถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมรับผู้เข้าร่วมโครงการตาปลอมฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 ที่โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการ “การพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยผ่าตัดนำลูกตาออก และการใส่ตาปลอม” ว่า ดวงตาเป็นอวัยวะในส่วนของการมองเห็นที่สำคัญในด้านการดำเนินชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ การสูญเสียดวงตาไม่ว่าจะข้างใดข้างหนึ่งอย่างถาวร จากข้อมูลของศูนย์ตาปลอม โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) พบว่า ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด นำตาออกจากหลายสาเหตุนั้น ส่วนใหญ่มักมาจากอุบัติเหตุที่รุนแรง จนลูกตาแตกไม่สามารถผ่าตัดเก็บลูกตาไว้ได้และการติดเชื้อที่รุนแรงหลังอุบัติเหตุหรือการการผ่าตัดตาต่างๆ จึงต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนำลูกตาออกและต้องใส่ตาปลอม

ซึ่งการสูญเสียดวงตาอย่างกะทันหันโดยไม่ทันเตรียมใจ นอกจากทำให้มองไม่เห็นแล้ว ยังส่งผลกระทบตามมาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านจิตใจของผู้ป่วยเองที่รู้สึกกลัว กังวล สูญเสียอัตมโนทัศน์ และภาพลักษณ์ ขาดความมั่นใจ รู้สึกตนเองไร้คุณค่า ไม่กล้าพบปะบุคคลในสังคม ในขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อบุคคลในครอบครัวที่ต้องดูแลผู้ป่วยเองก็เกิดภาวะเครียด กลัววิตกกังวล กลัวการสูญเสียรายได้หากผู้ป่วยเป็นเสาหลักของครอบครัว กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จึงได้จัดทำ “โครงการตาปลอม ๙๙๙ ดวงตาถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตาที่ยากไร้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงบริการใส่ตาปลอมได้ โดยเฉพาะตาปลอมแบบเฉพาะบุคคล (Custom made eye prosthesis)

การประชุมครั้งนี้เพื่อให้พยาบาลที่ปฏิบัติงานด้านจักษุได้มีความรู้ในการให้การพยาบาลและการดูแลทางด้านจิตใจของผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลในเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยและญาติก่อนและหลังผ่าตัดนำลูกตาออก ตลอดจนการใส่ตาปลอม รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพภายหลังใส่ตาปลอม เพื่อให้ผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตาเตรียมตัวรับกับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

พญ.สายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา ได้เปิดให้บริการตาปลอมแก่ผู้สูญเสียดวงตาหรือดวงตาผิดรูปมากว่า 10 ปี เริ่มจากให้บริการใส่ตาปลอมสำเร็จรูป (Stock eye) จนปัจจุบันได้ผลิตตาปลอมเฉพาะบุคคล (Custom made eye prosthesis) ขึ้น (เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2559) จากสถิติผู้มารับบริการใส่ตาปลอม ปี 2557 – 2559 ก่อนตั้งศูนย์ตาปลอมเพื่อผลิตตาปลอมเฉพาะบุคคล มีจำนวน 171 ราย 176 ราย และ 202 ราย (ดวงตา) ตามลำดับ จะเห็นได้ว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการรับตาปลอมมีเพิ่มขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี ตาปลอมสำเร็จรูปยังมีข้อจำกัดที่ด้อยกว่าตาปลอมเฉพาะบุคคลที่สามารถผลิตให้มีขนาดรูปร่างและสีตาขาว ตาดำให้ใกล้เคียงกับตาอีกข้างมากกว่าตาปลอมสำเร็จรูป แต่ตาปลอมเฉพาะบุคล มีราคาแพง ทำให้ผู้ป่วยที่ยากไร้ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จึงได้ดำเนิน โครงการตาปลอม ๙๙๙ ดวงตา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตาหรือดวงตาผิดรูป ที่ยากไร้ ด้อยโอกาส ได้รับการใส่ตาปลอม จำนวน 999 ราย (ดวงตา) ภายใน 5 ปี โดยดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 – มกราคม 2565

ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2561 มีผู้เข้ารับบริการตาปลอมจากโครงการนี้ ทั้งหมด 321 ราย และมีผู้ป่วยลงชื่อเข้าร่วมโครงการเพื่อรับตาปลอมเฉพาะบุคคลจากโครงการอีก 346 ราย ดังนั้น โครงการนี้ยังสามารถรับผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับตาปลอมฟรีได้อีก 332 ราย (ดวงตา) ผู้สนใจติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับการทำตาปลอมและ “โครงการตาปลอม ๙๙๙ ดวงตา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช” ได้ที่ www.mettaprosthesis.com

สำหรับประชุมวิชาการ “การพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยผ่าตัดนำลูกตาออก และการใส่ตาปลอม” ครั้งนี้งานมีจักษุแพทย์มาให้ความรู้ในเรื่องการผ่าตัดนำตาออก และทางออก ในการรับบริการการทำตาปลอมให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ แนวทางการดูแลรักษาและการเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัดนำตาออก,สิทธิและสวัสดิการของผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตาและยังได้เชิญจิตแพทย์มาให้ความรู้ในหลักการ รวมถึงวิธีการเข้าถึงจิตใจผู้ป่วยและญาติ ในสถานการณ์นี้ และยังมีการแชร์ประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตา และรับฟังแง่คิดและพลังบวก จากดีเจพี่อ้อยพิธีกรจากรายการคลับฟรายเดย์ เพื่อให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ด้านจักษุวิทยาได้รับพลังใจ และความรู้ความเข้าใจการดูแลผู้ป่วยไปส่งต่อพลังบวกให้กับผู้ป่วยและครอบครัวต่อไป