ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เจ๋งสุดๆ โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก ค้นใจบุคลากร พบต้นเหตุของทุกข์คือหนี้สิน ผุดโครงการปลดหนี้ เริ่มต้นจากวางแผนทางการเงิน ส่งโค้ชประกบคัดกรองผู้มีวินัยเข้าสู่ขั้นตอน “รับซื้อหนี้” ลุยล้างหนี้ในระบบ-นอกระบบ-บัตรเครดิต สร้างกลไกการต่อรอง ดึงสถาบันทางการเงินเข้ามาช่วย เพียง 18 เดือน ปลดทุกข์ให้เจ้าหน้าที่ไปแล้ว 13 ชีวิต มูลค่ารวม 1.4 ล้านบาท

พญ.พรรณเพชร ลิขิตเกียรติขจร โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก จ.พิษณุโลก กล่าวในการประชุมกลุ่มย่อย “World cafe HR Clinic” ภายในงานการประชุมระดับชาติ การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ (HR4H Forum) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ตอนหนึ่งว่า บุคลากรในโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลกมีความทุกข์จากปัญหาหนี้สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่ามีบุคลากรเพียงครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 50% ของบุคลากรทั้งหมดเท่านั้นที่มีเงินเก็บออม ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมาก

พญ.พรรณเพชร กล่าวต่อว่า ความทุกข์ของบุคลากรเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข โดยทางโรงพยาบาลได้นำกระบวนการจิตปัญญาศึกษามาปรับใช้ ซึ่งเป็นการพูดด้วยปัญหา ฟังด้วยปัญญา จนเกิดเป็นความเข้าใจ ซึ่งจากการพูดคุยกันอย่างจริงใจทำให้ทราบว่าบุคลากรที่เป็นหนี้สินนั้นจะมีความอับอายไม่กล้าบอกใคร และรู้สึกผิด รวมถึงโทษตัวเองที่ไม่สามารถจัดการชีวิตได้

ทั้งนี้ เมื่อโรงพยาบาลทราบถึงปัญหาหรือต้นตอที่แท้จริงของความทุกข์แล้ว จึงมีการออกแบบเพื่อคลี่คลายความทุกข์ เริ่มจากการชักชวนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางการเงินเข้ามาพูดคุย สอนการวางแผนทางการเงินในภาพรวม สอนการจัดทำบัญชีครัวเรือน ขณะเดียวกันก็มีการสร้าง Coach ทางการเงิน ซึ่งเป็นบุคลากรในโรงพยาบาลด้วยกันขึ้นมา

“เราจะทำกันอย่างลับๆ โดยโค้ชจะเป็นคนที่ผู้ประสบปัญหารู้จักและไว้วางใจ ซึ่งโค้ชจะมีความสนิทสนมแต่จริงจัง ทำหน้าที่ช่วยติดตามการวางแผนและการใช้เงินด้วยการประกบแบบ 1-1 และทุกครั้งที่มีการอบรม โค้ชก็จะเข้าร่วมกับผู้ประสบปัญหาด้วย” พญ.พรรณเพชร กล่าว

พญ.พรรณเพชร กล่าวต่อไปว่า โค้ชและบุคลากรที่ประสบปัญหาทางการเงินจะต้องมานั่งคุยกันทุกเดือน และจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายมาแสดงทุกๆ เดือน โดยในเดือนแรกจะดูว่าในบัญชีเหล่านั้นมีรายจ่ายตรงไหนที่ไม่จำเป็น พอเดือนที่สองก็จะพิจารณาว่ารายจ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านั้นลดลงหรือไม่ ทำเช่นนี้ติดต่อกันไปจนครบ 6 เดือน ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้สามารถคัดกรองผู้ที่มีระเบียบวินัยทางการเงินหรือผู้ที่มีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาจริงๆ เมื่อโรงพยาบาลประเมินแล้วว่าผู้ใดมีระเบียบวินัยดีเยี่ยม ก็จะนำเข้าสู่โครงการให้เงินกู้ยืมเพื่อชดใช้หนี้ หรือขั้นตอน “การซื้อหนี้” ซึ่งนับเป็นเฟสที่ 2 ของการดำเนินการ

“ในรุ่นแรกมีผู้ผ่านการประเมิน 17 ราย เราก็จะให้เขาแจกแจงออกมาว่า เขามีเงินเดือนอยู่เท่าใด เป็นหนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ และหนี้บัตรเครดิตอยู่เท่าใด จากนั้นเราก็ให้เขาเขียนเบอร์ติดต่อเจ้าหนี้ประเภทต่างๆ ไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งเจ้าหนี้ก็จะเป็นบุคลากรในโรงพยาบาลด้วยกันเอง ทางโรงพยาบาลก็จะไปเช็คดูว่าจำนวนหนี้นั้นเป็นจริงอย่างที่ผู้ประสบปัญหาแจ้งไว้หรือไม่ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขปัญหา” พญ.พรรณเพชร กล่าว

พญ.พรรณเพชร กล่าวต่อไปว่า โดยธรรมชาติของหนี้จะเป็นวงจร กล่าวคือเริ่มต้นจากหนี้ในระบบก่อน เมื่อจ่ายไม่ไหวก็จะไปสร้างหนี้นอกระบบเข้ามาชำระหนี้ในระบบ และสุดท้ายก็จะเป็นหนี้บัตรเครดิตเพื่อนำมาชำระหนี้นอกระบบ แล้วก็จะเริ่มเป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับการดำเนินการ ในส่วนของหนี้ในระบบนั้น ถ้าเป็นบุคลากรภายในโรงพยาบาลด้วยกันเอง โรงพยาบาลจะช่วยพูดคุยประนอมหนี้ หักลดดอกเบี้ย และช่วยเหลือด้วยการให้กู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยไปชดใช้ โดยส่วนใหญ่จะสามารถต่อรองให้ลดลงได้ถึง 40% ขณะที่หนี้นอกระบบนั้นนับเป็นเรื่องยาก โรงพยาบาลจะเข้าไปทำสัญญากับเจ้าหนี้เพื่อซื้อหนี้ และให้บุคลากรมาทำสัญญากับโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่งเพื่อผ่อนชำระตามอัตราที่จ่ายไหว เช่น หักเงินเดือนเดือนละ 500 บาท

ขณะที่หนี้บัตรเครดิต โรงพยาบาลได้ประสานสถาบันทางการเงินเข้ามาให้คำปรึกษา และให้สถาบันทางการเงินช่วยต่อรองกับธนาคารเพื่อลดดอกเบี้ย โดยสถาบันทางการเงินจะแนะนำให้ลูกหนี้หยุดชำระเงิน จนเวลาผ่านไปประมาณ 6 เดือน ทางธนาคารจะติดต่อกลับมาเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการประนอมหนี้ ตรงนี้ก็จะขอให้สถาบันทางการเงินเข้าไปช่วยเจรจา ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถต่อลงลงมาได้ 80% ทำให้จ่ายจริงเพียง 20% เท่านั้น

อย่างไรก็ดี หลังจากที่โรงพยาบาลช่วยซื้อหนี้ให้บุคลากรแล้ว บุคลากรก็ยังต้องทำบัญชีมาส่งเป็นรายเดือนและอยู่ภายใต้การดูแลของโค้ชอยู่เช่นเดิม หลังจากนั้นโรงพยาบาลก็จะดำเนินการในเฟส 3 คือการเพิ่มรายได้ให้บุคลากรด้วยการหาอาชีพเสริมให้

“ในรอบ 18 เดือนที่ได้ดำเนินงาน โรงพยาบาลใช้เงินไปประมาณ 1.4 ล้านบาท ช่วยให้ช่วยให้บุคลากร 13 ราย จาก 17 ราย หลุดจากการเป็นหนี้ได้อย่างเด็ดขาด” พญ.พรรณเพชร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง