ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุม คมส.คัดเลือกมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องขับเคลื่อนแบบ Quick Win มุ่งเห็นผลเร็ว อาทิ กรณีเด็กไทยกับไอที อาหารกลางวันในโรงเรียน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และน้ำดื่มปลอดภัย พร้อมเปิดตัว “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่พื้นที่” ปลายเดือนนี้

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2561 มี การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 2/2561 โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ประธาน คมส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่อยู่ระหว่างดำเนินการเป็นจำนวนมาก ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ จัดลำดับความสำคัญมติ (Priority) เพื่อขับเคลื่อนแบบเร่งด่วนและเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมระยะสั้น (Quick Win) โดยยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนและมีผู้ได้รับผลกระทบมาก 2.มีโอกาสเกิดผลสำเร็จสูง และ 3.ต้องใช้กลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในการขับเคลื่อน

โดย คมส.คัดเลือกมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในด้านสังคมและสุขภาวะ จำนวน 3 มติ เป็น Quick Win ประกอบด้วย 1.การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชม.: กรณีเด็กไทยกับไอที, 2.ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน และ 3.น้ำดื่มปลอดภัยสำหรับประชาชน และคัดเลือกอีก 5 มติ ที่จัดอยู่ใน กลุ่มที่มีความท้าทายและเป็นปัญหาสำคัญของสังคม (Challenge) ได้แก่ การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน, มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน, เกษตรและอาหารในยุควิกฤต, ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช, การพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อไปว่า ในส่วนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่เป็น Quick Win ได้คัดเลือก 3 กลุ่มมติ ประกอบด้วย 1.กลุ่มมติเกี่ยวกับเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 2.กลุ่มมติเกี่ยวกับการโฆษณา/การสื่อสารการตลาด และ 3.กลุ่มมติเกี่ยวกับการบริการปฐมภูมิและการบริการระบบสุขภาพเขตเมือง โดยจะพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งนี้ คมส.ได้รับทราบความก้าวหน้าของมติระบบการจัดอาหารกลางวันในโรงเรียนที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งถือเป็นต้นแบบความสำเร็จ โดยมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมทั้ง 17 อำเภอ พร้อมเสนอให้เชื่อมต่อกับ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งสามารถนำเงินมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ โดย นพ.ปิยะสกล ขอให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในโรงเรียนทุกแห่งไปพร้อมกันทั้งประเทศจะช่วยให้เกิดผลเร็วและยั่งยืน

สำหรับการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติผ่านเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เสนอให้เชื่อมการทำงานกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีนายอำเภอเป็นประธานและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา เพื่อบูรณาการทุกๆ องค์กรในพื้นที่ต่อไป

ที่ประชุม คมส.ยังรับทราบการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติที่มีความก้าวหน้ามาตามลำดับ โดยจะจัดเวทีเปิดตัวการขับเคลื่อน (Kick off) ที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ โดย นพ.ปิยะสกล ย้ำว่า การขับเคลื่อนต้องเน้นเป้าหมายใหญ่ คือ การสร้างการเรียนรู้ให้พระสงฆ์ในเรื่องสุขภาพ (Health Literacy) เพื่อให้ถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชนซึ่งมีความนับถือศรัทธาในพระสงฆ์อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการขยายผลอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น