ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ปรึกษาสภาพัฒน์ ขึ้นเวทีมหกรรมสุขภาพต้านโรค NCDs ระบุแนวทางขับเคลื่อนของประเทศไทย ผนึกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เผย 4 ประเด็นความท้าทายโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง “สังคมเมือง-พฤติกรรมเนือยนิ่ง-พหุวัฒนธรรม-การสื่อสารไร้พรมแดน”

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2561 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมสุขภาพต้านโรคไม่ติดต่อ “NCD Forum 2018” ภายใต้กรอบคิด (ธีม) “Together, Let’s beat NCDs: ประชารัฐร่วมใจ ลดภัย NCDs” ขึ้น ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 ราย

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานนโยบายเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำแผนต่างๆ โดยมอบทิศทางทั้งผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยาการ โดย สศช.ได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) บรรจุลงไปไว้แล้ว

น.ส.จินางค์กูร กล่าวว่า สศช. มองว่าการทำเรื่อง NCDs ให้ประสบผลสำเร็จนั้น คงไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายของ SDGs เพียงเป้าหมายเดียวได้ เพราะ NCDs มีองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดโรคอย่างหลากหลาย ซึ่งทาง สศช.วิเคราะห์ไว้ว่าเกี่ยวข้องกับ 8 เป้าหมาย

ทั้งนี้ ประกอบด้วย เป้าหมายที่ 1 การมีรายได้น้อยเสี่ยงต่อการเป็น NCDs เป้าหมายที่ 2 ภาวะขาด-เกินทางโภชนาการเสี่ยงต่อการเป็น NCDs เป้าหมายที่4 การเกิด NCDs มีผลมาจากการขาดความรู้-การศึกษา เป้าหมายที่ 5 ผู้หญิงและเด็กมักเผชิญกับความไม่เสมอภาค อาทิ ภาระสุขภาพที่นำไปสู่การก่อให้เกิด NCDs

เป้าหมายที่ 8 การทำงานที่มีคุณค่ามีส่วนป้องกันการเกิด NCDs เป้าหมายที่ 10 ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ส่งผลต่อการตายจากNCDs เป้าหมายที่ 12 การผลิต-บริโภคที่รับผิดชอบต่อสังคม เป็ฯผลดีต่อการลดการเกิด NCDs เป้าหมายที่ 13 อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีแผนที่รองรับทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้าน NCDs

น.ส.จินางค์กูร กล่าวอีกว่า ยังมีความท้าทายที่ทำให้แผนเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานด้าน NCDs ในอนาคต ประกอบด้วย 1 การกลายเป็นเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะมลพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพ การจัดการมลพิษที่ไร้ระเบียบจะนำไปสู่การขาดความยั่งยืนในการควบคุมป้องกันโรค 2.การมีพฤติกรรมเนื่อยนิ่ง ซึ่งนำมาสู่การเกิดพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่เหมาะสม อาทิ การนั่งโต๊ะทำงานเป็นเวลานาน รวมถึงเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกส่งผลให้มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ อาทิ บริการสั่งอาหารผ่าน App. เป็นต้น

3.สังคมพหุวัฒนธรรม เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมการบริโภค รวมทั้งความเร่งด่วนในการใช้ชีวิต ทำให้ผู้คนนิยมรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดมากยิ่งขึ้น 4.การสื่อสารไร้พรมแดน โดยสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมสุขภาพ/การดำรงชีวิต ทำให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงข่าวสารสุขภาพถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วมากขึ้นบนเทคโนโลยที่ทันสมัย ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูล

น.ส.จินางค์กูร กล่าวต่อไปถึงทิศทางการดำเนินงานเรื่อง NCDs ของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยกัน 2 ส่วนควบคู่กัน ได้แก่ 1.นโยบายรัฐ ซึ่งอ้างอิงจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และ SDGs มีลักษณะบนลงล่าง เน้นการสร้างความนรู้ความเข้าใจ สร้างความเชื่อมโยงประเด็นการพัฒนากับแผนระดับต่างๆ และเสริมสร้างบทบาททุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแผน 2.สมัชชาสุขภาพ-กลไกประชารัฐ ซึ่งเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมแบบล่างขึ้นบน โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม สานพลังความร่วมมือการขับเคลื่อน และสนับสนุนพื้นที่ตัวอย่างด้วยการใช้สื่อขยายผล ซึ่งหากในอนาคตสามารถเชื่อมร้อยทั้งสองส่วนได้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาNCDs ได้