ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะพยาบาลศาสตร์ “มข.- มช.- ม.อ.-มหิดล” จับมือเปิดตัวเครือข่ายความร่วมมือเพื่อลดสาเหตุการเสียชีวิตของมารดา เพื่อทำกิจกรรมแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็ก ตลอดจนให้ความรู้ด้านเพศศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาเพื่อลดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ภายใต้การสนับสนุนของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและ UNFPA

วันที่ 16 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ได้จัดกิจกรรม TICA Connect ครั้งที่ 4 เพื่อฉลองปีที่ 47 ที่ประเทศไทยและ UNFPA ได้ดำเนินงานในการเป็นหุ้นส่วนและมีความร่วมมือแบบ South-South Cooperation เพื่อสนับสนุนสุขภาพมารดา นโยบายด้านประชากรและการพัฒนา และเพื่อจัดแสดง best practice จากประเทศไทยแก่ประเทศต่างๆ ที่กำลังพัฒนาเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ทั้งนี้ ในงานดังกล่าวได้มีการเปิดตัว “เครือข่ายความร่วมมือเพื่อลดสาเหตุการเสียชีวิตของมารดา” (UNFPA-Thailand Solution Network on Making Motherhood Safer) โดยมี ผศ.ดร.เสาวมาศ คุณล้าน เถื่อนนาดี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผศ.ดร.จุฑารัตน์ มีสุขโข ผู้ช่วยคณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.วรางคณา ชัชเวช รองคณบดีฝ่ายแผน สารสนเทศและประกันคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, รศ.ดร.เรณู พุกบุญมี ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.ดร.สตรีรัตน์ ธาดากานต์ ผู้แทนจากสภาการพยาบาล เข้าร่วมพิธีเปิดตัวเครือข่ายอย่างเป็นทางการ

ผศ.ดร.เสาวมาศ กล่าวว่า เครือข่ายความร่วมมือเพื่อลดสาเหตุการเสียชีวิตของมารดา เป็นความร่วมมือของหลายสถาบันการศึกษาด้านการพยาบาลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและ UNFPA ในสร้างเครือข่ายการแบ่งปันองค์ความรู้และ Best Practice เพื่อลดการเสียชีวิตของแม่และเด็ก ตลอดจนทำโครงการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเพศศึกษาและป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ลดอัตราการทำแท้งเถื่อน ซึ่งความความร่วมมือนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้ ซึ่งในอนาคตก็จะมีการทำกิจกรรมร่วมกันในนามของเครือข่ายมากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.เสาวมาศ กล่าวอีกว่า นอกจากการทำกิจกรรมภายในประเทศแล้ว เครือข่ายนี้ยังทำงานครอบคลุมถึงประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำโครงการอบรมครูผดุงครรภ์ให้แก่ สปป.ลาว ซึ่งหลังจากทำโครงการก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กในประเทศลาวลงมากขึ้นเป็นต้น

ขณะที่ประเทศไทยนั้น ปัญหาต่างจากประเทศลาว ประเด็นเรื่องอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กคงไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่เป็นเรื่องวิถีชีวิตของคน Gen Y ที่เปลี่ยนไป มีความอิสรเสรีทำให้มีโอกาสมีเพศสัมพันธ์ได้ง่ายและขาดความระมัดระวัง อาจเกิดการท้องหากมีขาดการวางแผนครอบครัวหรือขาดการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงเน้นทำโครงการให้ความรู้แก่ประชาชน เช่น การเพิ่มความเชี่ยวชาญของพยาบาลผดุงครรภ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย การให้ความรู้ประชาชนเรื่องเพศศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น

“ในฐานะสถาบันการศึกษา เรามีความปรารถนาและหน้าที่อย่างเดียวกันในการสนับสนุนบุคลากรในการทำงานและแบ่งปันองค์ความรู้และทักษะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เราหวังว่าเครือข่ายของเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้มารดาได้รับการบริการที่มีคุณภาพในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด และอยากเชิญชวนสถาบันการศึกษาอื่นๆในประเทศไทย ไม่เฉพาะสาขาพยาบาล มาร่วมกันทำงานเพื่อให้ประชาชนของเราได้รับบริการที่ดีและที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของแม่และลูก ตลอดจนสตรีวัยเจริญพันธุ์” ผศ.ดร.เสาวมาศ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง