ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงถกบอร์ดกำลังคนด้านสาธารณสุข รับทราบผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการคงอยู่ของทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานภูมิภาค ผงะ!สถานการณ์หมอฟันไหลออกจากระบบ 3 ปี ร่วม 40% ผลวิจัยเสนอ 3 มาตรการแก้ไข ห้ามลดสวัสดิการรักษาพยาบาล-จ่ายค่าตอบแทนพิเศษเช่นเดิม-สร้างความมั่นคงในอาชีพ

นพ.มงคล ณ สงขลา

ที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน ได้ร่วมกันรับทราบข้อเสนอเชิงนโยบายการธำรงรักษาทันตแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยข้อมูลจากสำนักทันตสาธารณสุข ปี 2557 ประเทศไทยมีทันตแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา พบว่ามีผู้ปฏิบัติงาน 1.26 หมื่นคน ในจำนวนนี้สังกัด สธ.จำนวน 4,854 คน หรือคิดเป็น 38.52% และเป็นทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาคจำนวน 4,116 คน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อมูลผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการคงอยู่ของทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานภูมิภาค โดยสถิติสถานการณ์สูญเสียทันตแพทย์ใน สธ.ปี 2540-2560 จากฐานข้อมูลทันตแพทย์ในหน่วยงานส่วนภูมิภาค พบว่าสัดส่วนจำนวนทันตแพทย์ที่สูญเสียต่อทันตแพทย์ที่ได้รับจัดสรรในปี 2550 เท่ากับ 54.1%

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 61.2% ในปี 2551 และค่อยๆ ลดลงจนเหลือเพียง 26.1-38.4% ในระหว่างช่วงปี 2552-2556 ซึ่งขณะนั้นมีการปรับเพิ่มค่าตอบแทน และในปี 2556-2560 ตัวเลขกลับเพิ่มขึ้นอีกเป็น 48.9-56.6% โดยภาพรวมของทันตแพทย์ใน สธ.ได้รับจัดสรรจำนวน 3,042 คน มีการสูญเสีย 1,531 คน คิดเป็นจำนวนทันตแพทย์ในระบบที่เพิ่มขึ้น 1,511 คน ในรอบ 5 ปี

ทพญ.สุณี วงศ์คงคาเทพ ในฐานะหนึ่งในทีมศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการคงอยู่ของทันตแพทย์ฯ ปีงบประมาณ 2561 ให้ข้อมูลสถานการณ์การเคลื่อนย้ายของทันตแพทย์ฯ ระหว่างปี 2556-2562 ต่อที่ประชุม โดยผลการศึกษาพบว่า 1.จำนวนทันตแพทย์ปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 27.9% โดยเขต 9 เพิ่มมากที่สุด รองลงมาคือเขต 3 ส่วนเขต 4 น้อยที่สุด 2.เมื่อวิเคราะห์การคงอยู่ของทันตแพทย์รุ่นบรรจุ ปี 2554-2558 ที่ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค พบว่าเมื่อผ่านไป 3 ปี การคงเหลืออยู่ 63.2-78.6% และรุ่นบรรจุ ปี 2554-2556 เมื่อผ่านไป 5 ปี คงเหลือ 55-67.7% ส่วนรุ่นบรรจุ ปี2558-2559 มีอัตราสูญเสียสูงกว่าช่วงก่อนหน้า

“จากตัวเลขหมายความว่าอัตราคงเหลือในระบบเหลือเพียง 60% ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี” ทพญ.สุณี กล่าว โดยอธิบายเพิ่มว่า ปัจจัยกำหนดการคงอยู่ของทันตแพทย์หรือสิ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่ลาออกนั้น 1.เป็นงานที่มั่นคงมากกว่าระบบเอกชน 2.สามารถใช้ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวควบคู่ไปกับการทำงานอย่างมีความสุข 3.มีความภูมิใจที่สามารถแก้ไขปัญหาระหว่างทำงานได้ 4.สามารถเลื่อนตำแหน่งถึงระดับชำนาญการพิเศษได้ทุกคน

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายจากผลการศึกษา มีด้วยกัน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.นโยบายสวัสดิการรักษาพยาบาลและเงินบำนาญ ต้องไม่ปรับแก้ไขลดสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ 2.นโยบายจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษต่างๆ ถือเป็นแรงขับเคลื่อนให้คงอยู่ที่สำคัญ ควรได้รับเช่นเดียวกับที่ได้รับในปัจจุบัน และ 3.นโยบายสร้างความมั่นคงในวิชาชีพต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง