ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. สปสช. สสส. และภาคีเครือข่าย เร่งแก้ไขปัญหาสุขภาพ-สวัสดิการสังคม คนมีปัญหาสถานะบุคคล เดินหน้าปลดล็อกทีละกลุ่ม ตั้งแต่พิสูจน์สิทธิไปจนถึงเตรียมพร้อมสู่สังคม

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในหัวข้อ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับการขับเคลื่อนเพื่อความครอบคลุมประชากรไทยทุกกลุ่ม” ซึ่งอยู่ภายในงานเวทีสาธารณะ “คนไทยไร้สิทธิกับการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ” เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2561 ตอนหนึ่งว่า เจตนารมณ์ของการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือการดูแลสุขภาพและให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนอย่างครอบคลุมทุกคนบนแผ่นดินไทย แต่พบว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 5 กลับนิยามคำว่า “บุคคล” เอาไว้ จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้ สปสช.ไม่สามารถเข้าไปดูแลบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะได้

อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพจำเป็นต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ โดยในอดีตที่มีความพยายามทำงานในระดับพื้นที่ คือเสาะแสวงหาคนที่ไม่มีสิทธิ แต่การทำงานเชิงลึกอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องทำในเชิงนโยบายด้วย ซึ่งการทำงานเชิงนโยบายนั้นจำเป็นต้องมีฐานมาจากข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วย

นพ.รัฐพล กล่าวว่า สปสช.ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560-2564) เพื่อช่วยกันลดระดับของปัญหาในการดูแลสุขภาพคนไทยไร้สิทธิ อาทิ การเข้าไม่ถึงระบบริการสุขภาพ รวมถึงปัญหาของหน่วยบริการที่ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะได้

สำหรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเริ่มทำงานไปทีละกลุ่ม โดยมีจุดเน้นที่การทำงานเชิงระบบเพื่อสร้างการเข้าถึงบริการของกลุ่มคนไทยตกหล่นที่อาจจะยังอยู่นอกเหนือการดูแลจากกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (กองทุนคืนสิทธิ) และยังสนับสนุนและผลักดันให้องค์กรอื่นๆ ค้นหาและดำเนินการให้คนไทยตกหล่นเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิสถานะ ซึ่งจะนำไปสู่การขึ้นทะเบียนสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป

นางภรณี ภู่ประเสริฐ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในหัวข้อ “สสส.กับการขับเคลื่อนเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยทุกกลุ่ม” ว่า นอกจากการสร้างเสริมสุขภาพโดยตรงแล้ว สสส.ยังได้ทำงานเรื่องปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ โดยเชื่อว่าปัจจัยสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพศ ศาสนา ความเชื่อ เชื้อชาติ สัญชาติ ฯลฯ ย่อมมีผลกับการสร้างเสริมสุขภาพ ดังนั้นการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

นางภรณี กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย คาดการณ์ว่ายังมีกลุ่มคนไทยตกหล่นจากสถานะทางทะเบียนอีกจำนวนกว่าแสนรายทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองและในชุมชนหลายแห่ง โดยมีสาเหตุจาก 1. พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด ไม่เคยทำบัตรประชาชนมาก่อน 2. ถูกทอดทิ้งตั้งแต่เด็ก ไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ 3. ถูกจำหน่วยด้วย ทร.9 ไปอยู่ที่ทะเบียนกลาง ฯลฯ ซึ่งคนเหล่านี้จะเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันและสวัสดิการทางสังคม

สำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ คนไร้บ้าน ผู้ต้องขัง ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ฯลฯ เป็นกลุ่มคนที่ยังมีปัญหาอุปสรรค ได้รับความเหลื่อมล้ำ จึงจำเป็นต้องมีปัจจัยเฉพาะในการเข้าไปหนุนเสริมให้เขาเหล่านั้นได้รับสิทธิและสวัสดิการเท่าเทียมกับบุคคลอื่นๆ

นางภรณี กล่าวว่า สสส.ได้แบ่งการทำงานกับประชากรกลุ่มเฉพาะออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับกลุ่มประชากรและสังคม ซึ่งแบ่งการทำงานเป็น 4 ด้าน ได้แก่ “เรื่องสิทธิ” เน้นการพิสูจน์สิทธิและการพัฒนาสิทธิ “การเข้าถึง” จัดชุดบริการทางสุขภาพและสวัสดิการที่เหมาะสมเพื่อดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม “ความมั่นคงและหลักประกันดำรงชีพ” อาทิ การพัฒนาศักยภาพ การมีรายได้ การออม ที่อยู่อาศัย อาหาร และ “การเตรียมความพร้อม” ในการมีสถานะและกลับคืนสู่สังคม ควบคู่ไปกับการลดอคติต่อไป