ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ม.รังสิต เสนอทางออก “พ.ร.บ.ยา” แนะยกร่างกฎหมายใหม่ ดึงทุกวิชาชีพมีส่วนร่วม พิจารณาผลรอบด้าน พร้อมร่วมถกประเด็นทุกวิชาชีพจ่ายยาได้ ชี้ไม่สอดคล้องวิชาชีพกายภาพบำบัด เหตุเป็นวิธีบำบัดโดยไม่ใช้ยา หวั่นเปิดช่องหาประโยชน์ ทำเวชปฏิบัติสุ่มเสี่ยง ประชาชนไม่ปลอดภัย

ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์

ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากร่าง พ.ร.บ.ยา จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีเสียงสนับสนุนและคัดค้านในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการเปิดให้วิชาชีพอื่นนอกจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ จ่ายยา ปรุงยาและขายยาได้นั้น ขอแสดงความเห็นในฐานะคณบดีคณะกายภาพบำบัดฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพกายภาพบำบัด โดยมองว่ายังเป็นประเด็นที่น่าห่วงอยู่ เพราะการเปิดให้วิชาชีพกายภาพบำบัดจ่ายยา ปรุงยาและขายยา เมื่อดูในส่วนของวิชาชีพกายภาพบำบัด มองว่ายังมีความรู้ด้านยาที่ไม่เพียงพอที่จะจ่ายยาให้กับคนไข้ ทั้งหลักสูตรการเรียนในวิชาชีพกายภาพบำบัด ในเรื่องของยาก็มีไม่มากเพียงพอที่จะสนับสุนการปฏิบัติงานด้านยา รวมถึงการจ่ายยาให้คนไข้นั้นยังต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ต้องได้รับการฝึกสอน เพื่อสื่อข้อมูลให้คนไข้เข้าใจและใช้ยาอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้หลักการกายภาพบำบัด เป็นวิธีการบำบัดคนไข้โดยไม่มีการใช้ยาอยู่แล้ว อาทิ การรักษาด้วยการออกกำลังกาย การรักษาด้วยมือ และการรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เป็นต้น ขณะเดียวกันในส่วนของ พ.ร.บ.สถานพยาบาลกายภาพบำบัด ยังได้กำหนดชัดเจนว่า พื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของคลินิกกายภาพบำบัดต้องไม่เกี่ยวข้องกับร้านยาหรือใช้พื้นที่เดียวกัน หรือใช้ทางออกร่วมกัน ระบุให้ต้องแยกส่วนออกจากร้านยาชัดเจน ดังนั้นการเปิดช่องในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นี้ จึงไม่สอดคล้องกับวิชาชีพกายภาพบำบัด ทั้งยังขัดต่อหลักปฏิบัติวิชาชีพ อย่างไรก็ตามหากวิชาชีพกายภาพบำบัดจะจ่ายยาได้ก็มีเพียงยาทาภายนอกเท่านั้น เช่น ยานวด ยาทาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น ส่วนยากินหรือยาฉีด วิชาชีพกายภาพบำบัดจ่ายไม่ได้อยู่แล้วและมีกฎหมายระบุห้ามชัดเจน ดังนั้นการที่ร่าง พ.ร.บ.ยา ซึ่งเป็นกฎหมายหลักได้เปิดช่องไว้กว้างมากที่เป็นการให้อำนาจเกินจากประกาศที่มีอยู่อาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาภายหลังได้

“แม้ว่าในร่าง พ.ร.บ.ยา ระบุให้ต้องมีการออกกฎกระทรวงรองรับการจ่ายยาของวิชาชีพที่ต้องจ่ายยาเพิ่มเติม แม้ว่าจะเห็นด้วยกับความจำเป็นในการจ่ายยาของบางวิชาชีพ แต่กังวลว่าการเขียนกฎหมายกว้างแบบนี้อาจเปิดช่องให้คนที่คิดแตกแถวและหาประโยชน์ทำมาหากินจากช่องว่างนี้ โดยทำเวชปฏิบัติที่สุ่มเสี่ยงและอาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อคนไข้ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรออกกฎหมายหลักที่เปิดกว้างไว้ ซึ่งในส่วนวิชาชีพที่มีความจำเป็นต้องจ่ายยาก็ควรให้มีการออกกฎกระทรวงแยกต่างหากจากกฎหมายนี้ ไม่ใช่เปิดกว้างไว้ทั้งหมดสำหรับทุกวิชาชีพ” คณบดีคณะกายภาพบำบัดฯ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว

ดร.วรชาติ กล่าวว่า ในส่วนวิชาชีพกายภาพบำบัดเชื่อว่าคงไม่มีใครคิดทำหน้าที่จ่ายยาให้คนไข้ เพราะงานกายภาพบำบัดทุกวันนี้ก็หนักอยู่แล้ว หากเพิ่มบทบาทจ่ายยาจะยิ่งทำให้ต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิม แต่ในอนาคตเราไม่รู้ว่าจะมีคนคิดแตกแถวเพื่อหาผลประโยชน์หรือไม่ แม้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจะมีน้อยมาก แต่ควรป้องกันไว้ก่อน นอกจากนี้ปัจจุบันในคนไข้กายภาพบำบัดที่ต้องรับยารักษาด้วย เป็นการสั่งจ่ายยาโดยแพทย์และมีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาให้คนไข้ นักกายภาพบำบัดไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องยาเลย เพียงแต่กรณียาที่มีฤทธิ์และอาจส่งผลต่อการทำกายภาพบำบัด อาจต้องเรียนรู้เพื่อให้สามารถทำกายภาพให้กับคนไข้ได้อย่างเหมาะสม

ต่อข้อซักถามว่า ในมาตราที่เปิดให้ทุกวิชาชีพร่วมจ่ายยาได้ควรมีเนื้อหาอย่างไร เพราะขณะนี้มีทั้งเสียงจากวิชาชีพที่คัดค้านและสนับสนุน ดร.วรชาติ กล่าวว่า การแก้ไขมาตรานี้เพียงมาตราเดียวไม่สามารถทำให้ พ.ร.บ.ยา ที่ใช้มา 50 ปีดีขึ้นได้ เนื่องจากในร่างกฎหมายยังมีประเด็นอื่นๆ ที่มองว่ายังคงเป็นปัญหาและมีเสียงคัดค้านอยู่ เช่น การแบ่งประเภทยาที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล การให้เภสัชกรประจำร้านยามากกว่า 1 แห่งได้ที่ไม่ใช่ช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน เป็นต้น

ดังนั้นส่วนตัวมองว่าน่าจะมีการถอนร่าง พ.ร.บ.ยานี้ออกมาก่อน และทำการยกร่างกฎหมายใหม่ โดยเชิญทุกวิชาชีพ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความเห็นและทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้การออกกฎหมายมีความครอบคลุมและรอบด้านยิ่งขึ้น ไม่ใช่จัดทำโดย อย.หรือกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น จนทำให้เกิดความเห็นต่างและคัดค้านอย่างในขณะนี้ ขณะเดียวกันควรยึดหลักการและแนวปฏิบัติสากล ไม่ใช่ออกกฎหมายที่เปิดกว้างจนเป็นช่องว่างและอาจทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการดื้อยา การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และอันตรายจากการใช้ยา เป็นต้น ซึ่งท้ายสุดจะทำลายระบบยาของประเทศรวมถึงระบบสุขภาพของประชาชนได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกรณีการตั้งคณะทำงานเพื่อข้อสรุปในประเด็นที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ดร.วรชาติ กล่าวว่า ในมุมองยังยืนยันให้มีการถอนร่างกฎหมายนี้ออกไปทั้งฉบับก่อน เพื่อให้มีการทบทวนในมาตราอื่นๆ ไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตามขอให้กำลังใจ อย.ในการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ยา ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2510 เนื่องจากสถานการณ์ด้านยา วิชาชีพเภสัชกร รวมถึงวิชาชีพต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแไปมาก จึงถึงเวลาสมควรในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบัน โดยให้ยึดหลักการแก้ไขเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนเป็นตัวตั้งและให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมการแก้ไขกฎหมาย หากมีประเด็นเกี่ยวข้องภาคส่วนใดต้องให้ภาคส่วนนั้นมีส่วนร่วมและได้เข้ามาแสดงความเห็น ซึ่งจะทำให้ได้ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เภสัชค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับ อย. ให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชขายยาได้ ไม่ปลอดภัยต่อ ปชช.

แนะถอยคนละก้าวร่าง พ.ร.บ.ยา เขียนให้ชัดยาอะไรที่วิชาชีพอื่นสั่งจ่ายได้บ้าง

อย.ยันแก้ กม.ยา ยึดหลัก ปชช.ปลอดภัย เตรียมแจงความคืบหน้า 27 ส.ค.นี้

ชมรมเภสัชฯ ค้านร่าง พ.ร.บ.ยา แจง 6 ช่องโหว่สุดเสี่ยง จี้ อย.ทบทวนด่วน

สภาพยาบาลหนุนร่าง พ.ร.บ.ยา ชี้เอื้อทุกวิชาชีพทำงานร่วมกันได้ แจงหลักสูตรมีสอนเรื่องยา

ชี้ร่าง พ.ร.บ.ยาอ่อนด้อยยิ่งกว่าของเดิม ยันผ่อนปรนไม่ได้ เพราะเป็นความปลอดภัยของ ปชช.

อย.แจงร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

อย.เตรียมตั้ง คกก.ถกร่าง พ.ร.บ.ยา “เปิดช่องวิชาชีพอื่นจ่ายยาได้”

สภาเภสัชกรรมชี้ร่าง พ.ร.บ.ยา ซ้ำรอยเดิม อย.ทำปัญหาวนกลับจุดเดิม หนุนใช้ระบบใบสั่งยา 

เภสัชกรอีสานยืนยันค้านร่าง พ.ร.บ.ยา เพื่อ ปชช.ใช้ยาปลอดภัย ไม่ได้ปกป้องวิชาชีพ

องค์กรประชาชนอีสานร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ชี้เอื้อประโยชน์ทุนกินรวบ

อย.ชี้เข้าใจร่าง พ.ร.บ.ยาผิด โดยเฉพาะประเด็น ‘จ่ายยาและขายยา’ ยืนยันมีข้อดีหลายด้าน 

รมว.สธ.เห็นชอบ 4 ข้อสรุปร่าง พ.ร.บ.ยา คง 4 วิชาชีพจ่ายยา ส่วนพยาบาลใน รพ.รัฐเหมือนเดิม