ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการชี้แนวคิดให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองรายได้เกิน 1 แสนบาท/ปี ร่วมจ่าย 10-20% ของค่ารักษาเท่ากับเดินถอยหลัง ย้ำระบบสวัสดิการต้องถ้วนหน้า ไม่ต้องพิสูจน์ความยากจนเพื่อจะได้รับสิทธิฟรี และการร่วมจ่ายก็ช่วยประหยัดงบได้น้อยนิดมาก แนะพัฒนาระบบปฐมภูมิให้ดีเพื่อลดการเจ็บป่วยของประชาชน ดีกว่ามานั่งสกรีนคนจนเพื่อประหยัดงบ

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงกระแสข่าวที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดลดสิทธิประชาชนที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง โดยคนที่มีรายได้เกิน 100,00 บาท/ปี สิทธิในบัตรทองควรลดลง เช่น อาจจ่ายเอง 10-20% ว่า ระบบสวัสดิการโดยทั่วไปต้องเป็นระบบถ้วนหน้าโดยเฉพาะสิ่งที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นบำนาญผู้สูงอายุหรือการรักษาพยาบาล เราควรมุ่งสู่การเป็นระบบถ้วนหน้าให้ทุกคนได้รับเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องพิสูจน์เรื่องความยากจนเพื่อจะได้รับสิทธิฟรี

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวอีกว่า ในประเด็นเรื่องแนวคิดการให้ร่วมจ่าย มีงานวิจัยหลายชิ้น เช่น งานของ ดร.ณัฐ หงษ์ดิลกกุล ได้ทำวิจัยไว้ชัดเจนมากว่าจุดเด่นของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยคือการเป็นระบบถ้วนหน้า สามารถทำให้คนจนที่สุดได้ประโยชน์จริงๆ และถ้าต้องมีการพิสูจน์สิทธิ มีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก็จะทำให้ความคิดของคนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลหรือสิทธิศักดิ์ศรีเปลี่ยนไป

“และอย่างที่เห็นว่าถ้าประเทศไทยไม่มีการพัฒนาระบบถ้วนหน้าเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผมคิดว่าภาพรวมสุขภาพของคนและฐานะทางเศรษฐกิจไม่น่าจะดีขึ้นในระดับนี้ ผมมองว่าระบบถ้วนหน้าทำให้คนมีความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น และทำให้ให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งพิสูจน์แล้วเมื่อ 10 กว่าปีก่อน” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องการให้ร่วมจ่าย 10-20% ตนขออ้างงานวิจัยของ ดร.ณัฐ หงษ์ดิลกกุล อีกว่ารายได้เฉลี่ยของคนไทยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 26,000 บาท ดังนั้นหากมีค่าใช้จ่ายที่งอกออกมา เช่น ต้องรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายขนาดกลางประมาณ 50,000-60,000 บาท แล้วต้องจ่าย 10 % หรือประมาณ 5,000 บาท ก็เป็นปัญหาสำหรับครอบครัวโดยเฉลี่ยซึ่งไม่ได้เป็นครอบครัวยากจน

ขณะเดียวกัน หากจะกำหนดเพดานรายได้ให้สูงขึ้นก็ไม่ได้ช่วยประหยัดงบประมาณไปได้สักเท่าไหร่เพราะประเทศไม่ได้มีคนรวยขนาดนั้น ขณะที่คนชั้นกลางก็ยังใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบอยู่แล้ว สมมติงบประมาณบัตรทองอยู่ที่ 150,000 ล้าน ถ้าให้ร่วมจ่ายตามแนวคิดดังกล่าวก็อาจมีเงินเพิ่มขึ้นหลัก 10-20% แต่เทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีถือเป็นหลักเปอร์เซ็นต์ที่น้อยนิดมาก ไม่สามารถทำให้กองทุนบัตรทองมีความมั่งคั่งหรือสามารถช่วยคนจนได้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือคนจะวิ่งเข้าหาโพลิคลินิกมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็จะเยอะขึ้น

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ เสนอทางออกว่า ไม่ควรต้องตัดลดอะไรแต่พัฒนาระบบปฐมภูมิดีขึ้น ให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้โดยง่ายและมีคุณภาพดี ไม่มีการกระจุกตัว พัฒนาเรื่องการตรวจสุขภาพต่างๆ มากขึ้น ปรับเงื่อนไขการใช้ชีวิตประจำวัน ปรับเงื่อนไขเรื่องอาหารที่มีคุณภาพ มียาราคาถูก สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนเจ็บป่วยน้อยลง

“ถ้าจะทำควรทำให้ดีขึ้น ผมมองว่าการพัฒนาระบบปฐมภูมิควรเป็นทางที่เราควรมุ่งไป มากกว่ามานั่นสกรีนคนเพื่อประหยัดงบ ไม่ใช่มานั่ง target หรือมุ่งเป้าคนจนเพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์ ถ้าทำแบบนี้ผมมองว่าคือการถอยหลัง” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว