ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดี สถ.ติวเข้มกฎ-กติกาจัดสรรงบฯ อุดหนุนค่าอาหารกลางวัน นร.สังกัด อปท. ย้ำปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด ดึงนักโภชนาการร่วมจัดอาหารให้เด็กกินครบหมู่ตามหลักการ พร้อมเปิดทางประชาชนร่วมตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.61 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งในรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับสถานศึกษาในสังกัด อปท. และการอุดหนุนเงินงบประมาณให้สถานศึกษาสังกัดส่วนราชการอื่นไปดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แจ้งซักซ้อมแนวทางการทำงบประมาณรายง่ายเพื่อรองรับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ให้เป็นไปอย่างถูกและเพียงพอต่อจำนวนเด็กนักเรียนระดับปฐมวัย และระดับประถามศึกษาในสถานศึกษา ตามที่รัฐบาลอนุมัติให้จัดสรรงบประมาณในอัตราคนละ 20 บาทต่อวัน

ทั้งนี้หลังจากที่กรมฯ ได้รับอนุมัติงวดเงินแล้ว จะดำเนินการโอนจัดสรรงบประมาณให้ อปท. นำไปบริหารจัดการ โดยสถานศึกษาในสังกัด อปท.จะต้องส่งเงินค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของสถานศึกษา เพื่อนำไปใช้จ่ายในการจัดหาอาหารกลางวัน ส่วนสถานศึกษาสังกัดส่วนราชการอื่น ก็ให้ อปท.อุดหนุนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้แก่สถานศึกษา ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนของ อปท.

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นหลักประกันว่า งบประมาณค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนสังกัด สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับจัดสรรอย่างรวดเร็วนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะกำหนดให้ อปท.จัดสรรงบประมาณไปให้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ได้รับโอนเงินงบประมาณจากกรมฯ ไป

ส่วนการป้องกันการทุจริต หรือการที่เด็กนักเรียนได้รับอาหารกลางวันหรือสารอาหารไม่ครบถ้วนว่า กรมฯ ก็ยังได้กำชับ อปท.ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางการตรวจสอบด้านการเงิน การคลัง การพัสดุ และการบัญชีของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงการตรวจสอบบัญชีการเงินของ อปท. ในส่วนของค่าอาหารกลางวันอย่างเคร่งครัด และยังให้พิจารณานำระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch: TSL) มาใช้ในสถานศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมความร่วมมือระหว่างสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์จัดทำขึ้น เพื่อให้มีความครอบคลุมทั้งในด้านคุณค่าทางโภชนาการตามหลักวิชาการและความสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมหรือบริบทของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาใดใช้วิธีการจัดหาโดยซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวันเอง

ขอให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วยทุกครั้ง และเพื่อความโปร่งใสและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณอาหารกลางวัน ก็ให้มีการปิดประกาศรายการอาหารและจำนวนวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ประกอบอาหารในแต่ละวัน รวมถึงให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมั่นตรวจติดตามการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยแต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจ หรือลงพื้นที่ในการสุ่มตรวจเองเป็นระยะ ส่วนการแต่งตั้งกรรมการตรวจรับพัสดุนั้น ก็ให้มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบุคลากรมาทำหน้าที่ดังกล่าว

อธิบดีส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวต่อถึงการให้ความสำคัญในการดูแลคุณค่าทางโภชนาการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนว่า เพื่อป้องกันภาวะการขาดโภชนาการ หรือภาวะทุพโภชนาการ กระทบต่อภาวะการเจริญเติบโตของเด็กนักเรียน กรมฯ จึงเห็นว่า การกำหนดให้มีตำแหน่งนักโภชนาการ มาทำหน้าที่ดูแลคุณค่าด้านโภชนาการของเด็ก เยาวชน และประชาชน ตลอดจนบุคคลที่ต้องได้รับการดูแลด้านโภชนาการเป็นพิเศษ เช่นผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมทั้งทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางโภชนาการให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น จึงเป็นอีกช่องทางสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาการขาดภาวะทางโภชนาการในระยะยาว

ดังนั้นขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข หรือสถาบันการศึกษาที่มีนักโภชนาการ หรือมีองค์ความรู้ด้านโภชนาการ ในลักษณะการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้ได้เข้ามาดูแลช่วยเหลือด้านโภชนาการ และอาจพิจารณากำหนดให้มีตำแหน่งนักโภชนาการ ในโครงสร้างอัตรากำลัง โดยคำนึงถึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบ ปริมาณงาน และคุณภาพของงาน รวมถึงความก้าวหน้าในสายงานเป็นสำคัญ ภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 หากดำเนินการแล้ว เป็นเหตุให้มีภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เป็นเหตุให้มีภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ก็อาจพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ในลักษณะการจ้างเหมาบริการบุคคล เพื่อทำหน้าที่ดูแลคุณค่าด้านโภชนาการ

อย่างไรก็ตาม หากยังเห็นว่าไม่เกิดความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างภาระงานที่ต้องปฏิบัติ กับภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และเพื่อให้การจัดระบบบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่น ก็อาจพิจารณาร่วมมือกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในอำเภอเดียวกัน โดยการให้เงินอุดหนุนแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการร่วม ในการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการจ้างเหมาบริการบุคคล มาทำหน้าที่ดูแลคุณค่าด้านโภชนาการของเด็ก เยาวชน และประชาชน ตลอดจนบุคคลที่ต้องได้รับการดูแลด้านโภชนาการเป็นพิเศษ เพื่อให้มาปฏิบัติหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้เงินอุดหนุน โดยถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2559 ด้วย