ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศาลปกครองนัดตัดสินคดีสหภาพพยาบาลฯ ฟ้องสภาการพยาบาลขอให้สั่งเปิดประชุมวิสามัญและทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพ ในวันที่ 2 ต.ค. 2561 นี้ ด้านเลขาธิการสหภาพพยาบาลฯชี้ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะคดี สภาการพยาบาลคงต้องเปิดประชุมอยู่ดีเนื่องจากมีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ เพียงแต่สหภาพฯ จะเข้าไปมีส่วนร่วมทบทวนกฎหมายพยาบาลได้ 20% ตามข้อร้องขอต่อศาลหรือไม่เท่านั้น

นางปุญญิศา วัจฉละอนันท์ เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ศาลปกครองได้นัดไต่สวนคดีที่สหภาพพยาบาลฯ ฟ้องสภาการพยาบาล เกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรไปเมื่อวันที่ 5 ก.ย.2561 ที่ผ่านมา ทางศาลปกครองได้นัดวันตัดสินในวันที่ 2 ต.ค.2561 เวลา 10.30 น.

นางปุญญิศา กล่าวว่า ทางสหภาพพยาบาลฯ ได้ฟ้องสภาการพยาบาลใน 2 ประเด็นคือ 1.ขอให้สั่งให้สภาการพยาบาลเปิดประชุมวิสามัญสมาชิกทั่วประเทศ และ 2.ขอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 2528 ฉบับปรังปรุงแก้ไข 2540 โดยที่สหภาพพยาบาลฯ เข้าไปมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า 20%

ทั้งนี้ สาเหตุที่ยื่นฟ้องเนื่องจากในปี 2559 เป็นช่วงที่มีการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งทุกวิชาชีพได้ทำการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพของตนเอง ยกเว้นวิชาชีพพยาบาลโดยสภาการพยาบาลให้เหตุผลว่ากฎหมายของพยาบาลเป็นปัจจุบันแล้ว อย่างไรก็ดีในมุมมองของสหภาพการพยาบาลฯมองว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมการทำงานที่เป็นปัจจุบัน และอยากให้ทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น

นางปุญญิศายกตัวอย่างเช่น หลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติ รัฐบาลทำข้อตกลงกับกระทรวงสาธารณสุขและสภาการพยาบาลในการผลิตพยาบาลเวชปฏิบัติเพื่อตรวจคนไข้ แต่ว่ามีความเสี่ยงในเรื่องการสั่งยาเพราะแม้จะมีลิสต์รายการยาจากสภาการพยาบาลมาแล้ว 180 กว่าตัว แต่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ยา ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพยาบาลไม่ได้แก้ไขให้สอดคล้องเลย หรือเรื่องการเจาะเลือด พยาบาลทำการเจาะเลือดมานานแล้ว ต่อมาทางสภาเทคนิคการแพทย์ก็ทำกฎหมายที่ครอบคลุมการเจาะเลือดว่าต้องเป็นนักเทคนิคการแพทย์เท่านั้น แต่วิชาชีพพยาบาลก็ไม่ได้แก้ไขกฎหมายของตัวเองด้วย ทำให้กฎหมายของนักเทคนิคการแพทย์ถูกต้องแต่พยาบาลกลายเป็นผู้ผิดกฎหมาย เป็นต้น

“การแพทย์มันไปไว ละการพยาบาลที่ทันสมัยก็ไปไวขึ้น ประชาชนก็มีความรู้ความเข้าใจโรคมากขึ้น เราก็ต้องดูกฎหมายของเราให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาไม่มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพยาบาลเลย เราเลยต้องฟ้องศาลเพื่อขอให้ทบทวนกฎหมายโดยเราขอเข้าไปมีส่วนร่วม 20% เพราะสมาชิกของเรามาจากผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด จะได้แก้ไขได้ตรงจุด” นางปุญญิศา กล่าว

นางปุญญิศา กล่าวอีกว่า ไม่ว่าวันที่ 2 ต.ค.นี้ ศาลจะตัดสินให้แพ้หรือชนะคดี แต่เชื่อว่าทางสภาการพยาบาลคงต้องนัดประชุมวิสามัญอยู่แล้วเนื่องจากช่วงนี้มีประเด็นเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เพียงแต่จะประชุมแบบไหนเท่านั้น ว่าสหภาพพยาบาลจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทบทวนกฎหมายในสัดส่วน 20% ตามข้อร้องขอได้หรือไม่