ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เสนอรัฐเดินหน้าสร้าง “สวัสดิการถ้วนหน้าที่จำเป็นของทุกคน” ชงทำบำนาญถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคนมีรายได้หลังเกษียณ

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยเดินมาไกลจนถึงจุดที่ควรพูดถึงการมีสวัสดิการถ้วนหน้าที่จำเป็นของคนทุกคน โดยเครือข่ายภาคประชาชนอยู่ระหว่างการผลักดันหลักประกันด้านรายได้เมื่อสูงวัย หรือ “บำนาญถ้วนหน้า” จากแนวคิดที่ว่าในวัยหนุ่มสาวของคนทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนในการสร้างประเทศ และระหว่างการใช้ชีวิตก็ต้องเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยชราภาพก็ควรจะได้รับหลักประกัน เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ทุลักทุเลหรืออยู่อย่างอนาถาต้องขอความสงเคราะห์จากผู้อื่น

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลควรเข้ามาช่วยดูแลประชากรที่เข้าสู่วัยชราภาพ อย่างน้อยๆ ก็ให้เขาเหล่านั้นมีอาหารรับประทาน จึงนำมาสู่ข้อเสนอเรื่องบำนาญถ้วนหน้า คือให้คนทุกคนที่อายุ 60 ปี มีสวัสดิการเป็นหลักประกันด้านรายได้ตามเส้นแบ่งความจน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 2,900 บาทต่อเดือน

“มันไม่ใช่ให้แค่ 600 บาท เหมือนที่ให้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะแนวคิดเรื่อง 600 บาทนั้น เป็นการสงเคราะห์ แต่ถ้าเรามองว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิก็อยากให้เริ่มต้นที่ขีดความจน คืออย่างน้อยๆ ก็ควรมีวันละ 100 บาท เพื่อที่จะซื้อข้าวกินได้” น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า สวัสดิการถ้วนหน้าไม่ใช่การร้องขอ เพราะหลักการคือประชาชนทุกคนเสียภาษี ประชาชนทุกคนจึงควรมีส่วนในการตัดสินใจว่าภาษีที่ตัวเองเสียไปควรจะถูกนำไปใช้อะไร โดยเฉพาะในคนจนที่ต้องจ่ายภาษีทางอ้อม หรือ VAT จากการซื้อสินค้าต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และนั่นก็คือรายได้หลักของรัฐบาลด้วย

“ประชาชนไม่ว่าจะรวยจะจนก็ต้องเสียภาษีทางอ้อมตรงนี้หมด ส่วนตัวจึงคิดว่าประชาชนมีสิทธิที่จะกำหนดสวัสดิการเหล่านี้ได้โดยที่ไม่ต้องร้องขอ คือเงินที่เก็บไปจากเขาก็แค่คืนกลับมาให้เป็นหลักประกันของการมีชีวิตอยู่ของเขา ทั้งเรื่องสุขภาพ การศึกษา และบำนาญชราภาพ” น.ส.สุภัทรา กล่าว และว่า ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักที่ควรมีสวัสดิการถ้วนหน้า โดยไม่ต้องแบ่งว่าเป็นคนรวยหรือคนจน แต่เป็นสิ่งที่ต้องได้เท่าเทียมกัน

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ในต่างประเทศ เมื่อประชากรเกษียณก็จะได้รับเงินดูแล อาจใช้วิธีคือให้คนมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับสิทธิ เช่น มาขึ้นทะเบียนล่วงหน้าก่อนเกษียณ 1 ปี เมื่อถึงเวลารัฐก็อาจจะจ่ายเงินตรงเข้าบัญชีเลย ไม่ต้องผ่านมือกระทรวงหรือหน่วยงานใดเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริต ซึ่งหมายความว่าเงินตรงนี้จะเป็นเงินที่รัฐบาลให้เป็นสวัสดิการ ส่วนเขาจะมีเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคม หรือจากกองทุนข้าราชการ ก็เป็นส่วนเพิ่มนอกเหนือจากนี้ไป

น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้ใช้หลักการ SAFE (Sustainability, Adequacy, Fairness และ Efficiency) ที่พูดถึงรัฐควรรับผิดชอบในสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคน ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกับสวัสดิการถ้วนหน้าที่ภาคประชาชนกำลังขับเคลื่อน ซึ่งที่ผ่านมามีการรวบรวมรายชื่อและจัดทำเป็นร่างกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่กลับไม่ถูกผลักดันเนื่องจากรัฐมองว่าสวัสดิการต่างๆ เป็นภาระงบประมาณของประเทศ