ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคหอบหืด หรือ โรคหืด (asthma) ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่รู้หรือไม่ ทุกวันนี้ผู้ป่วยเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันพบว่าชาวตะวันตกและเด็กเล็ก (childhood) จำนวนมากในแถบฝั่งตะวันตกป่วยเป็นโรคหอบหืดเพิ่มมากขึ้น ซ้ำยังมีอาการรุนแรงมากขึ้น โดยงานวิจัยหลายชิ้นเห็นพ้องตรงกันว่า ‘วิถีการดำเนินชีวิตหรือไลฟ์สไตล์’ เป็นหนึ่งในบทบาทหลักที่กระตุ้นปัจจัยของสาเหตุดังกล่าวเพิ่มขึ้น

แล้วเพราะเพราะสาเหตุอะไร โรคหอบหืดถึงพบมากขึ้นในกลุ่มเด็กเล็ก?

ระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง

โดยปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มในร่างกายของเราจะผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ชื่อว่า ‘อินเตอร์เฟอรอน (Interferon)’ แต่สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดบางคน ร่างกายพวกเขาสามารถผลิตอินเตอร์เฟอรอนได้น้อยกว่าคนทั่วไป

กลายเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้ที่ (เคย) ป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (respiratory viral infection) ในช่วงวัยเด็กมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นโรคหอบหืด ทั้งในบางรายอาจพัฒนาเป็นโรคหอบหืดรุนแรง (developed asthma)

โดยงานศึกษาจำนวนมากยังพบข้อค้นพบตรงกันว่า ไวรัสโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่ส่งผลให้โรคหอบหืดกำเริบรุนแรงกว่าเดิม โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ร่างกายไม่แข็งแรง พวกเขาจะเปิดช่องว่างให้ไวรัสดังกล่าวและโรคหอบหืดที่มีอยู่รุมเร้าให้รุนแรงกว่าเดิม

จุลินทรีย์ไมโครไบโอต้า (microbiota)

ในร่างกายมนุษย์เรามีเซลล์จำนวนมากกว่า 100 ล้านล้านเซลล์ มีทั้งเซลล์มนุษย์และเซลล์ของจุลินทรีย์ทั้งภายในและภายนอกร่างกายในทุกส่วนของอวัยวะเรา โดยจุลินทรีย์ทั้งหมดที่อยู่ในร่างกายเรารวมกันเรียกว่า ไมโครไบโอต้า (microbiota) โดยพบว่าไมโครไบโอต้าที่อยู่ในร่างกายเราสามารถส่งผ่านจากแม่สู่ทารกได้ สามารถผ่านตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ หรือแม้แต่ผิวหนังของทารก

ยิ่งกว่านั้น เมื่อถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ การคลอดก่อน/หลังยังสัมพันธ์ต่อชนิดไมโครเบต้าเด็กทารกแรกเกิดอีกด้วย รวมถึงวิธีการคลอดก็ส่งผลเช่นกัน โดยพบว่าเด็กที่มีวิธีคลอดแบบธรรมชาติจะมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าเด็กที่ผ่าคลอด เนื่องจากเด็กได้รับกลุ่มจุลินทรีย์ที่อยู่ในช่องคลอดแม่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันเด็ก จึงเป็นเหตุผลอีกประการว่าทำไมการที่เด็กบางคนซึ่งผ่าคลอดถึงมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหอบหืด

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ส่งผลให้โรคหอบหืดถูกกระตุ้นให้รุนแรงกว่าเดิมเมื่อโตขึ้นยังไม่ได้มีเพียงแค่ปัจจัยภายในร่างกาย แต่ยังรวมถึงปัจจัยภายนอกรวมถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของพวกเขาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน (ทานน้ำตาลมากไปหรือได้รับปริมาณไฟเบอร์น้อยเกินไป) ดำรงวิถีชีวิตแบบคนเมืองมากเกินไป หรือการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาด ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลต่อจุลินทรีย์ไมโครเบต้าในร่างกายเรา ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ส่วนประกอบของจุลินทรีย์ไมโครเบต้ายังสามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ (ภายในไม่กี่วัน)

เมื่อจุลินทรีย์ไมโครเบต้าได้รับอิทธิพลจากร่างกายแม่อย่างมหาศาล โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิด ส่งผลให้แม่ๆ ชาวตะวันตกเริ่มหันมาให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตการเป็นอยู่เพื่อลดความเสี่ยงหรือปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดโรคหอบหืดกับลูกได้

เพราะอันตรายของโรคหอบหืดบางครั้งก็อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

สุดท้ายแล้ว ต้องย้ำชัดตรงนี้ว่า โรคหอบหืดของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน กล่าวคือ แต่ละคนแสดงอาการแตกต่างกัน รุนแรงมาก/น้อยไม่เท่ากัน ทั้งโรคดังกล่าวยังสามารถมาจากหลายปัจจัยจำนวนมากประกอบร่วมได้ ไม่เพียงแค่เฉพาะสองปัจจัยที่กล่าวมาเท่านั้น

ที่มา: 1.What causes asthma? What we know, don’t know and suspect: www.theconversation.com

2.ไมโครไบโอต้า…จุลินทรีย์ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด: www.pharmacy.mahidol.ac.th