ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นิด้าโพลเผยคน 51.20% มอง พ.ร.บ.ยาใหม่ให้วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพขายยาได้เหมือนเภสัชฯ ส่งผลเสียต่อประชาชน แนะควรแก้ปัญหาขายยาทางออนไลน์ โฆษณายาอันตรายและยาชุดแทน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ประชาชนได้ประโยชน์ ?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 – 4 กันยายน 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแก้ พ.ร.บ. ยา (ฉบับใหม่ กรกฎาคม 2561) โดยแก้ไขจาก พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 21 ผู้รับอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบันต้องมีเภสัชกรชั้นหนึ่งประจำอยู่ ณ สถานที่ขายยา ประจำอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำการ (เภสัชกรชั้นหนึ่ง หมายความว่า ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาเภสัชกรรม) เป็น พ.ร.บ. ยา (ฉบับใหม่ กรกฎาคม 2561) ให้ตัดข้อความ “เภสัชกร” เป็น “ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ” ถ้าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สามารถจัดหา ผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการ มาทำงานแทนได้ และให้วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพ สามารถจ่ายยาได้

การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูล ตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงผลดีหรือผลเสียต่อประชาชนกับการที่ “พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่” เอื้อประโยชน์ให้วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพ สามารถเปิดร้านขายยาได้เหมือนกับเภสัชกร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.20 ระบุว่า ส่งผลเสีย เพราะ วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพไม่มีความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ เท่ากับเภสัชกรที่จบมาเฉพาะด้าน

ขณะที่บางส่วนระบุว่า ส่งผลทำให้มีร้านขายยาเพิ่มมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 46.48 ระบุว่า ส่งผลดี เพราะจะได้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพก็มีความรู้ความสามารถ ไม่น้อยกว่าเภสัชกร และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อยามากขึ้น เนื่องจากในบางครั้งเภสัชกรก็ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องอย่างแพทย์ และร้อยละ 2.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับปัญหาเกี่ยวกับยาที่ควรปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.08 ระบุว่า การขายยาทางออนไลน์ รองลงมา ร้อยละ 15.92 ระบุว่า การให้วิชาชีพอื่นสามารถเปิดร้านขายยาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ร้อยละ 13.12 ระบุว่า การโฆษณายาอันตราย ร้อยละ 12.80 ระบุว่า การผสมยาถือเป็นการผลิตยาใหม่ต้องมีการควบคุมเข้มงวด ร้อยละ 12.16 ระบุว่า การขายยาชุด ยาแบ่งขาย ร้อยละ 10.80 ระบุว่า การจัดประเภทของยาตามหลักสากล คือ จ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ จ่ายยาโดยเภสัชกร ยาสามัญที่ประชาชนซื้อได้เอง ร้อยละ 0.88 ระบุว่า การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาให้บริการด้านยาแก่ประชาชน และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อบุคลากรวิชาชีพอื่นในสายสุขภาพว่าจะสามารถจ่ายยา/ขายยาได้เทียบเท่ากับเภสัชกร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.00 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น เพราะเภสัชกรมีความรู้ ความชำนาญมากกว่าบุคลากรวิชาชีพอื่นในสายสุขภาพ เนื่องจากเรียนตรงตามหลักสูตรและตรงกับสายงาน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทางในการแนะนำหรือจ่ายยา รองลงมา ร้อยละ 29.44 ระบุว่า เชื่อมั่น เพราะ บุคลากรวิชาชีพอื่นในสายสุขภาพมีความรู้ความสามารถเทียบเท่ากับเภสัชกร และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการยอมรับให้วิชาชีพอื่นในสายสุขภาพสามารถจ่ายยา/ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรควบคุม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.04 ระบุว่า ยอมรับไม่ได้ เพราะผู้ที่จะจ่ายยาได้นั้นต้องเป็นเภสัชกร หรือมีเภสัชกรคอยควบคุมการจ่ายยา ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่มีความมั่นใจหากเป็นวิชาชีพอื่นที่ไม่ได้จบเฉพาะทาง ไม่มีความเชี่ยวชาญเทียบเท่าเภสัชกร อาจจะจ่ายยาไม่ตรงกับโรคที่เป็นหรือจ่ายยาผิด รองลงมา ร้อยละ 21.12 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ เป็นการเปิดกว้างในด้านอาชีพมากขึ้น เนื่องจากวิชาชีพอื่นในสายสุขภาพก็มีความรู้ ความสามารถเทียบเท่ากับเภสัชกร และร้อยละ 1.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 9.76 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.60 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.64 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 31.68 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.32 มีภูมิลำเนอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 51.84 เป็นเพศชาย ร้อยละ 48.08 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 5.12 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.68 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.96 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.08 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 19.12 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 92.24 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.76 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.04 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุศาสนา

ตัวอย่าง ร้อยละ 19.76 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.68 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.52 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 26.64 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.32 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.44 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.56 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.76 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.28 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่าง ร้อยละ 13.44 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.36 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.36 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.92 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.08 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.72 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.52 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.44 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 11.84 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 24.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 14.24 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 9.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.32 ไม่ระบุรายได้