ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากพยาบาลต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ได้ข้อสรุป 3 ประเด็น 1.จ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้ 2.เห็นด้วยมาตรา 4 แยกยา 4 ประเภท และยาแผนปัจจุบันที่พยาบาลสามารถจ่ายได้ และ 3.ขอให้พยาบาลจ่ายยากรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เพื่อช่วยชีวิต เตรียมนำเสนอผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องต่อไป

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้เชิญสภาการพยาบาล สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ชมรมการพยาบาลวิชาชีพแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาล รพ.สต.แห่งประเทศไทย ผู้บริหารสถาบันการศึกษาพยาบาล ชมรมพยาบาลเวชปฏิบัติ ชมรมบริหารพยาบาลแห่งประเทศไทย พยาบาลอาชีวอนามัย พยาบาลวิสัญญี ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมมีทั้งในภาคการศึกษาและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ถึงประเด็นปัญหาการดำเนินงานของพยาบาล โดยได้ข้อสรุปร่วมกัน 3 ประเด็น ดังนี้

1.มาตรา 22 (5) ตามร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ขอเพิ่มเติมข้อความ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สามารถจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้ตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกสถานพยาบาล

2.เห็นด้วยตาม มาตรา 4 ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ในการแยกประเภทยาเป็น 4 ประเภท โดยเฉพาะยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นยาที่พยาบาลสามารถจ่ายยาได้

3.ขอให้พยาบาลวิชาชีพสามารถใช้ยาและจ่ายยาในกรณีผู้ป่วยมีภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที

“หลักการในเนื้อหาของ พ.ร.บ.ทั้งหมด ทางสภาการพยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันว่ามีประโยชน์กับประเทศ แต่ยังมีประเด็นที่เห็นต่างกันจะมีอยู่ 2 ข้อ คือมาตรา 22 (5) และมาตรา 4 ให้มีการเพิ่มเติมตามที่เสนอ เพื่อให้การทำงานของพยาบาลเป็นไปได้ในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล วิชาชีพพยาบาลเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานทั้งด้านวินิจฉัย รักษา จ่ายยา เบื้องต้นแก่ประชาชนตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค การวางมาตรการการขายยาออนไลน์ การวางมาตรการการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ แต่คนพูดถึงกันน้อยและเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นประโยชน์กับประเทศไทย โดยภาพรวมของการทำงานเจตนารมณ์ของพยาบาลกับกฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกันคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจะนำไปเสนอผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว