ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลเพชรบูรณ์เผยนโยบายคลินิกหมอครอบครัว (PCC) ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลประชาชน ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ชูจุดเด่นศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองให้บริการแบบ One Stop Service ลดระยะเวลาการรับบริการ และร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสร้างระบบแก้ไขปัญหาวัยรุ่นใช้สารเสพติดแบบครบวงจร

พญ.ดวงดาว ศรียากูล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจปฐมภูมิ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) ของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการยกระดับบริการสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิให้ประชาชนได้รับการรักษาและส่งเสริมด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิดด้วยทีมหมอครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล และทีมสหสาขาวิชาชีพ เปรียบเสมือนประชาชนทุกคนมีแพทย์ประจำตัวอยู่ในชุมชน ทางโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2559 โดยเป็น 1 ใน 8 ของคลินิกหมอครอบครัวในเขตชุมชนเมือง

พญ.ดวงดาว กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวทำให้ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองได้รับการจัดสรรบุคลากรทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทีมสหวิชาชีพ จนสามารถเพิ่มศักยภาพในการให้บริการประชาชนในเขตเทศบาลทั้งเชิงรุกและเชิงรับ จนได้รับการยอมรับประชาชนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันประชาชนจำนวนมากตัดสินใจมารับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองแทนที่จะไปโรงพยาบาล ยกเว้นผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทางจริงๆ

“ถ้ามองในเชิงฟังชั่นของ PCC ในการเป็น Gate Keeper สกรีนผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลถือว่าเห็นภาพที่ชัดเจนในการช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยปี 2559 เรามีจำนวน Visit อยู่ที่ 800 คน/เดือน ปี 2560 เพิ่มเป็น 1,000 คน/เดือน และปี 2561 เพิ่มเป็น 1,200 คน/เดือน ช่วยลดความแออัดที่ OPD ของโรงพยาบาลพอสมควร ปีละประมาณหมื่น Visit แม้จะมีผู้ป่วยบางส่วนที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง แต่คนที่มารับบริการครั้งแรกจะเลือกมาที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองมากกว่า” พญ.ดวงดาว กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนของบทบาทของ PCC ในการส่งเสริมสุขภาพลดจำนวนการเจ็บป่วยของประชาชนที่จะมารับบริการที่โรงพยาบาล พญ.ดวงดาวกล่าวว่า โรคที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองโฟกัสเป็นพิเศษคือกลุ่มโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลตลอด 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าด้วยกระบวนการดูแลให้ความรู้กลุ่มเสี่ยงที่ดำเนินการอยู่ ทำให้อุบัติการณ์ของกลุ่มเสี่ยงที่เปลี่ยนไปเป็นกลุ่มป่วยมีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอุบัติการณ์โดยรวม จำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ยังมีประชาชนกลุ่มเสี่ยงกลุ่มป่วยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนโรคกับศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง เช่น อาจไปคลินิกที่อื่น ไปซื้อยาเอง หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งได้ตั้งเป้าว่าในระยะเวลา 2 ปีนี้จะขยายการคัดกรองค้นหาให้มากขึ้นเพื่อที่จะได้มีตัวเลขที่แท้จริง

“ขอเวลา 2 ปีจะชัดขึ้น เราค่อนข้างมั่นใจว่าด้วยกระบวนการดูแลที่เรามี การดูแลแบบเกาะติด ให้ความรู้ กระตุ้นคนในครอบครัวให้เป็นแรงบันดาลใจในการดูแลสุขภาพ ฯลฯ จะช่วยลดจำนวนการเจ็บป่วยได้ เพียงแต่เราต้องหาเขาให้เจอแล้วเอาเข้ามาอยู่กระบวนการ” พญ.ดวงดาว กล่าว

พญ.ดวงดาว กล่าวอีกว่า แม้ในส่วนของการบริการด้านสุขภาพต่างๆของ PCC โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ก็เป็นแบบเดียวกับ PCC อื่นๆของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ก็มีจุดเด่น 2-3 เรื่องที่ไม่เหมือน PCC อื่นๆ เรื่องแรกคือการให้บริการแบบ One Stop Service ซึ่งช่วยลดเวลาการรอคอยของผู้ป่วยได้ 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับการไปรับบริการที่โรงพยาบาล โดยปัจจุบันใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 40 นาทีตั้งแต่ผู้ป่วยเดินทางมาถึง รับการตรวจจนกระทั่งกลับบ้าน ซึ่งหากไปใช้บริการที่โรงพยาบาลจะใช้เวลาถึง 140-150 นาที สร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการอย่างมาก

จุดเด่นต่อมาคือการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ซึ่งหลายๆแห่งติดขัดปัญหาว่าผู้ที่ได้สิทธิในการรับบริการจะต้องเป็นสิทธิบัตรทอง หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองกับทางเทศบาลทำให้ได้รับงบประมาณจากท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนจนสามารถให้บริการผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงได้โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นสิทธิบัตรทองหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

พญ.ดวงดาว กล่าวว่า จุดเด่นอีกประการของ PCC โรงพยาบาลเพชรบูรณ์คือสามารถสร้างระบบการดูแลกลุ่มวัยรุ่นที่มีปัญหายาเสพติด ภายใต้การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งโรงเรียน ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และสถานพินิจฯ โดยอาศัยคำสั่ง คสช.ที่ 108/2557 เป็นกลไกประสานการทำงานร่วมกัน

พญ.ดวงดาวขยายความว่าระบบดังกล่าวเริ่มจากที่พบว่าคนไข้หลายๆครอบครัวไม่สามารถปรับพฤติกรรมสุขภาพได้เนื่องจากมีปัญหารบกวนจิตใจ เช่น บุตรหลานโดนจับ โดยตรวจปัสสาวะแล้วเจอสีม่วง จึงหารือกับทีมงานก็พบปัญหาว่าทีมที่ออกไปตรวจสถานบันเทิง ร้านเกม พบเจอกลุ่มวัยรุ่นมามั่วสุมในร้านเกม ขณะที่ตำรวจในพื้นที่ก็เจอกลุ่มวัยรุ่นมั่วสุมในหอพัก ซึ่งเมื่อมองในภาพรวมแล้วก็คือปัญหาเดียวกันคือวัยรุ่นใช้สารเสพติด

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็พบว่าเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในสถานศึกษา จึงเริ่มพูดคุยและบูรณาการความร่วมมือกับโรงเรียน ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ตลอดจนหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม สร้างระบบการดูแลปัญหายาเสพติด โดยเกราะชั้นแรกเริ่มต้นที่การคัดกรองตั้งแต่ในโรงเรียน คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะมีครูช่วยดูแลให้คำแนะนำ ถ้าเจอว่าเสพสารเสพติดจะมีทั้งแพทย์และครูช่วยดูแลบำบัดตลอดจนเป็นที่พึ่งให้กับผู้ปกครองโดยใช้แนวคิดเชิงบวกเพื่อเพิ่มต้นทุนชีวิตให้เด็กกลุ่มนี้ มีโปรแกรมดูแลระยะยาวจนจบการศึกษา เกาะชั้นที่สองคือหากผู้ปกครองหรือเด็กมีแนวโน้มต่อต้านก็จะมีฝ่ายปกครองและตำรวจ หรือแม้กระทั่งสถานพินิจฯเข้ามาดูแล

“ถ้าถามว่า PCC ของเรามีอะไรที่ไม่เหมือนที่อื่น จุดสำคัญก็คือเราและภาคีเครือข่ายเห็นปัญหาแล้วลงไปลุยแก้ปัญหาจนสร้างระบบขึ้นมาได้ อย่างเช่นเรื่องยาเสพติด เราดำเนินการมา 4-5 ปีแล้ว สิ่งที่พบคือหลายครอบครัว ลูกมีอิทธิพลกับพ่อแม่ บางเคสเด็กสามารถพาพ่อแม่กลับมาหาหมอแล้วตรวจเบาหวานความดันได้ ทำให้แม่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ พอเราดูแลแบบนี้มันได้ทั้งครอบครัว”พญ.ดวงดาว กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของบทบาท PCC ในการทำงานเชิงรุก ส่งเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชนนั้น พญ.ดวงดาว กล่าวว่า กลุ่มที่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดที่สุดคือกลุ่มวัยรุ่น ทุกวันนี้เด็กกลุ่มเสี่ยงที่ผ่านการฟื้นฟูปรับสภาพจิตใจและเด็กทั่วไปสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมปกติได้รวมทั้งมีขีดความสามารถในการจัดการดูแลเพื่อนในกลุ่มวัยรุ่นที่มีปัญหาด้วยตัวเองได้อีกด้วย บางคนพลิกกลับจากเด็กมีปัญหามาเป็นเด็กที่มีผลการเรียนชั้นแนวหน้าได้

ขณะเดียวกัน ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองยังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายร้านอาหารทำโครงการอาหารลดเค็มลดโรคไตและพบว่ากลุ่มวัยทำงานมีแนวโน้มการเลือกซื้ออาหารที่ดีขึ้น ขณะที่ในภาพใหญ่ในเชิงสังคม เห็นการเกิดชมรมที่เกี่ยวกับการออกกำลังและดูแลสุขภาพมากขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุก็เกิดกลุ่มที่ Active รวมตัวกันดูแลตัวเอง สามารถลดการใช้ยาได้ ควบคุมระดับน้ำตาลและช่วยเป็นต้นแบบในการดูแลสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุได้ด้วยเช่นกัน