ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสนอ สธ.ดันวาระรักษาโรค ‘หืด-ปอดอุดกั้น’ ระบุ ลงทุนไม่เยอะได้ผลคุ้มค่า สามารถลดอัตราการเสียชีวิตเป็นศูนย์ได้

นพ.จักรกริช โง้วศิริ

นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการสนับสนุนให้หน่วยพยาบาลจัดตั้งคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network) ตอนหนึ่งว่า แนวคิดการรักษาโรคหืดให้หายนั้นเกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว โดยระยะหลังมานี้มีตัวยาที่ดี ให้แล้วสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ ซึ่งแน่นอนว่าหากผู้ป่วยไม่เกิดโรค ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งนอกจากตัวผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์แล้ว ยังถือว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลและประหยัดทรัพยากรของประเทศชาติด้วย

นพ.จักรกริช กล่าวว่า ในเมื่อโรคหืดสามารถป้องกันและรักษาได้ จึงเกิดเป็นการตั้งเครือข่าย Easy Asthma and COPD Clinic Network ขึ้นตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การรักษา ซึ่งเดิมที สปสช.ได้เข้าไปสนับสนุนตั้งแต่การฝึกอบรมของแพทย์ พยาบาล ในเรื่องของการดูแล การใช้ยา การวัดและประเมินผู้ป่วย ไปจนถึงการให้งบสนับสนุนกับโรงพยาบาลที่จัดบริการเป็นอย่างดี

“ในช่วงแรกๆ สปสช.ช่วยสนับสนุนในลักษณะเงินชดเชยค่ายา แต่ในช่วงหลังเมื่อมีองค์กรตรวจสอบเข้ามาท้วงติงในหลายประเด็น จึงเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนเงิน on-top ให้กับหน่วยบริการที่จัดบริการดี และมีการปรับเป็นเกณฑ์คุณภาพว่าหากมีคนไข้หอบหืดเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลน้อยลง ก็จะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่าเป็น value based payment” นพ.จักรกริช กล่าว

นพ.จักรกริช กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันงบประมาณการสนับสนุนค่อนข้างน้อย จึงไม่จูงใจหน่วยบริการเหมือนในอดีต ขณะเดียวกันการสนับสนุนในเชิงนโยบายก็ขาดความต่อเนื่อง และทางหน่วยพยาบาลเองก็มีภารกิจที่หลากหลาย ซึ่งอาจส่งผลให้ระยะหลังมานี้มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหืดนอนโรงพยาบาลมากขึ้นเล็กน้อย

“ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ใช้งบประมาณที่ไม่สูง จึงน่าจะมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาจจะออกมาเป็นนโยบาย เนื่องจากโรคหืดก็นับเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคหนึ่ง และหากเรารักษาดีก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเป็นศูนย์ได้เลย” นพ.จักรกริช กล่าว

ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า นอกจากความต่อเนื่องในเชิงนโยบายแล้ว สิ่งสำคัญก็คืองบประมาณ ซึ่งสามารถมองได้สองด้าน คือหากโรงพยาบาลสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการแอดมิดลง ก็เท่ากับเป็นการลดภาระงานและทรัพยากรส่วนหนึ่งลง แต่อีกด้านก็คืออาจต้องจ่ายค่ายาเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นทั้งเรื่องของรัฐบาล สธ. รวมถึง สปสช.ที่อาจใช้กลไกการต่อรองราคายาเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ราคายาถูกลงมาก

นพ.จักรกริช กล่าวว่า ที่จริงแล้วการรักษาโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยบัตรทองอยู่แล้ว แต่งบประมาณที่ให้โรงพยาบาลนั้นรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว ทางโรงพยาบาลจึงอาจไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องหลักในการรักษา

อนึ่ง สถานการณ์โรคหืดของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าอุบัติการณ์ในเด็กประมาณ 10% และผู้ใหญ่ประมาณ 5% ของประชากรทั้งหมด และสามารถรักษาได้ด้วยยาพ่นสเตียรอยด์ลดการอักเสบ ซึ่งขนาดของยาต่ำมากจนไม่เกิดอันตรายแก่ร่างกาย โดยขณะนี้มีผู้เข้าถึงการรักษาประมาณ 30% ของผู้ป่วยทั้งหมด สาเหตุที่ยังมีผู้เข้าไม่ถึงบริการเนื่องมาจากศักยภาพของหน่วยบริการไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ