ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับโรงพยาบาลใหญ่มีอัตราครองเตียงเกิน 100 % เร่งใช้นวัตกรรมแก้ไขปัญหาความแออัด ให้โรงพยาบาลใหญ่เน้นการรักษาโรคยุ่งยากซับซ้อน พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายดูแลด่านหน้า ควบรวมการบริหารจัดการโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลาง/เล็ก สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพประชาชน

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม และ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รักษาราชการแทนตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว “แนวทางการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลแออัดและการพัฒนาบุคลากร” ว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นเรื่องจริง ซึ่งรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทราบปัญหาและสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ในการจัดบริการสุขภาพเพื่อประชาชนนั้น กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ทำอยู่ฝ่ายเดียว แต่ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลสังกัดอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชน

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาความแออัดซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนานวัตกรรมมาใช้ โดย

1.พัฒนาเขตสุขภาพ ทำหน้าที่บริหารจัดการ และมีการจัดบริการเป็นเครือข่าย

2.กำหนดบทบาทโรงพยาบาลแต่ละระดับ โดยพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เน้นการรักษาโรคที่ซับซ้อน พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายเป็นด่านหน้าในการดูแลรักษาผู้ป่วย พัฒนาระบบการส่งกลับและการดูแลผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤต (Intermediate Care) ของโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางและขนาดเล็ก และพัฒนาการรักษาเฉพาะทางตามแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) และบริบทพื้นที่

และช่วยกันพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก โดยเฉพาะรอบเมือง ส่วนโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางและขนาดเล็ก ใช้นวัตกรรมลดความแออัด อาทิ โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์โมเดล ซึ่งยกระดับโรงพยาบาลนครชัยศรีโมเดล ของเขตสุขภาพที่ 5 และโรงพยาบาล 3 พี่น้อง ของเขตสุขภาพที่ 10 ที่ใช้การควบรวมโรงพยาบาลเพื่อบริหารจัดการร่วมกัน

และ 3.ในระดับปฐมภูมิ ได้มีนวัตกรรมคลินิกหมอครอบครัว (PCC) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลติดดาว อสม.4.0 และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่ทุกภาคส่วนร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชน เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ

สำหรับทิศทางใหม่ของการพัฒนาระบบสุขภาพ จะเน้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวอย่างถูกต้อง การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ที่เชื่อมโยงบริการจากครัวเรือนจนถึงระดับศูนย์เชี่ยวชาญ นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ตมาใช้ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน มีหมอประจำตัว มีประวัติการรักษาต่อเนื่อง หากมีปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้นแบบไร้รอยต่อ และส่งกลับมาดูแลต่อเนื่องในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านเมื่อพ้นภาวะวิกฤต จัดระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะสามารถช่วยลดความแออัดการรับบริการในโรงพยาบาลได้

“ผลงานนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งเรื่องงบประมาณการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยที่ต้องนอนในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ทั้งสุรา บุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ” นพ.สุขุมกล่าว

นพ.สุขุม กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องบุคลากร เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ ทั้งบุคลากรฝ่ายสุขภาพและฝ่ายสนับสนุนที่ร่วมทำงานเป็นทีมให้การดูแลสุขภาพประชาชน เป็นนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่จะบริหารจัดการบุคลากรให้เป็นระบบ ทั้งการรับบุคลากรเข้าทำงานตามกรอบอัตรากำลัง กำหนดเวลาทำงานและภาระงานให้เหมาะสม การดูแลขวัญกำลังใจเพื่อรักษาบุคลากรไว้ในระบบ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และมีการประเมินผลงาน เพื่อให้ทำงานอย่างมีความสุข สำหรับบุคลากรที่จ้างด้วยระบบจ้างงานอื่น ได้พยายามสร้างความมั่นคงเพิ่มขึ้น บรรจุเป็นข้าราชการเมื่อมีอัตราตำแหน่งว่าง และประสาน ก.พ. อย่างใกล้ชิดเพื่อขออัตราข้าราชการใหม่ตามแผนกำลังคนด้านสุขภาพ