ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมเภสัชสาธารณสุขฯ เสนอตัด 2 มาตรา เอื้อขยายเปิดร้านยา ขย.2 – เปิดช่องวิชาชีพอื่นร่วมจ่ายยาในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ชี้แค่บทเฉพาะกาลพอแล้ว หลัง อย.เพิ่มเติมเนื้อหาร่าง กม.ใหม่ เสนอ ครม.หวั่นกระทบทำประชาชนไม่ปลอดภัย เชื่อเจตนาดี มุ่งรองรับร้านยา ขย.2 มีสถานะทางกฎหมาย แต่สร้างปัญหาตามมาได้ พร้อมเผยผลหารือ อย.ยอมรับให้แก้ไข เตรียมชงปรับชั้นกฤษฎีกา

ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย

ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้บริหาร อย.ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ถึงร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ อย.ได้ส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้า ครม. ซึ่งมีเนื้อหาเปิดกว้างและอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนนั้น โดยชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทยได้แสดงความเห็นคัดค้าน 2 มาตรา คือ มาตรา 24 (3) และมาตรา 25 (6) เพราะเป็นการเปิดช่องให้สามารถขออนุญาตเปิดร้านขายยาแผนปัจจุบันจำหน่ายยาที่ไม่ใช่ยาที่ต้องจ่ายโดยเภสัชกร หรือยาตามใบสั่งแพทย์เพิ่มขึ้น เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่เรียกว่า ร้านยา ขย.2 ด้วยการให้วิชาชีพอื่นๆ รวมถึงผู้ที่รับการอบรมจาก อย. สามารถจ่ายยาได้ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถขออนุญาตเปิดร้านยา ขย.2 ได้ตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวน ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อหรือวิชาชีพอื่นที่ขอร่วมจ่ายยาที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้

ภก.จิระ กล่าวต่อว่า จากการหารือ อย.ชี้แจงว่าสาเหตุที่ได้เพิ่มข้อความใน 2 มาตราดังกล่าว เป็นเจตนาเพื่อรองรับการดำเนินกิจการร้านยา ขย.2 ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2,800 แห่งทั่วประเทศให้อยู่ได้ แต่ชมรมเภสัชสาธารณสุขฯ มองว่าประเด็นนี้ได้มีการใส่ไว้ในร่างกฎหมายแล้วในส่วนบทเฉพาะกาลแล้ว โดยให้ขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาจ่ายโดยเภสัชกร หรือยาตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งสิทธิในการขายยาร้านยา ขย.2 นี้จะจำกัดสิทธิให้เฉพาะผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเดิม เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตสิ้นอายุลงแล้ว หากต้องการดำเนินกิจการร้านยาต่อจะต้องมีการพัฒนายกระดับร้านยาให้มีเภสัชกรตามกฎหมายเท่านั้น แต่หาก อย.เพิ่มเติมเนื้อหากฎหมายใน 2 มาตราดังกล่าว ไม่เพียงแต่ทำให้ร้านยา ขย.2 คงอยู่ แต่ยังจะทำให้มีการขยายร้านยา ขย.2 เพิ่มขึ้น

ภก.จิระ กล่าวว่า ในการยกร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ เดิมเราอยากให้มีร้านยาประเภทเดียวที่มีเภสัชกรประจำเท่านั้น เป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่ด้วย พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ได้เปิดให้มีร้านยา ขย.2 มาแล้ว จึงต้องมีแนวทางรองรับเพื่อให้ร้านยา ขย.2 เหล่านี้คงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งในร่างกฎหมายเดิมไม่ได้พูดถึงร้านยา ขย.2 เลย เท่ากับเป็นการบังคับให้ร้านยา ขย.2 เหล่านี้ต้องเลิกกิจการไป ดังนั้นจึงได้เพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลเพื่อให้ร้านยา ขย.2 มีสถานะทางกฎหมายรองรับ แต่ต้องจำกัดไม่ให้จำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมในมาตรา 24 (3) และมาตรา 25 (6) จนส่งผลให้เกิดช่องในการขออนุญาตเปิดร้านยา ขย.2 ได้โดยไม่จำกัดจำนวน

“ในการหารือ ผมเสนอให้ตัดออกทั้ง 2 มาตรานี้เลย เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้มีการขออนุญาตเปิดร้านยาประเภทนี้เพิ่มในประเทศไทย ซึ่ง อย.รับว่าจะนำไปแก้ไขและปรับปรุง อย่างไรก็ตามขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว คงจะขอร่างกฎหมายกลับคืนเพื่อนำมาแก้ไขไม่ได้ เพราะเข้าสู่กระบวนการแล้ว จากนี้คงต้องไปแก้ไขในชั้นกฤษฎีกาแทน ซึ่งในการพิจารณาจะมีการเรียกหน่วยงานต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความเห็น ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดฯ คงต้องติดตามต่อไป” ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดฯ กล่าว

ภก.จิระ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เราต่างกังวลเพราะร่าง พ.ร.บ.ยา ควรจะจบไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่นำเสนอร่างเข้าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่เมื่อทางสำนักเลขาธิการฯ ได้ส่งหนังสือขอความเห็นไปยังหน่วยงานต่างๆ จึงเห็นเนื้อหาที่เป็นปัญหาและนำมาสู่การคัดค้าน อย่างไรก็ตามเรายังมองว่าเป็นเจตนาดีของ อย.เพื่อให้ร้านยา ขย.2 มีสถานะทางกฎหมาย แต่ไม่ได้มองถึงผลกระทบที่ตามมา แต่ทั้งนี้เรื่องนี้ก็เป็นมุมมองของแต่ละบุคคล เพราะ อย.เป็นหน่วยงานเจ้าของกฎหมายนี้จะไม่รู้ช่องโหว่นี้เลยเหรอ หรือจะมีวัตถุประสงค์แอบแฝงและสอดไส้อย่างที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีทั้งร้านสะดวกซื้อที่อยากเปิดร้านยา รวมถึงบางวิชาชีพที่ต้องการจ่ายยาได้