ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มะเร็งเต้านมยังคงเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและทั่วโลก แพทย์ชี้สถานการณ์ไม่น่าวิตก ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์และความตื่นตัวของผู้ป่วยปัจจุบัน ทำให้ตรวจพบได้เร็ว และมีโอกาสหายขาดสูงขึ้น แนะผู้หญิงกลุ่มเสี่ยง หมั่นตรวจเต้านมเป็นประจำ รวมถึงเน้นการค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องโรคจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ลดการเสียโอกาสทางการรักษา และลดอัตราการเสียชีวิตได้

มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่ผู้หญิงควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรทำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการตรวจพบมะเร็งเต้านม ได้แก่ ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี ผู้หญิงที่รอบเดือนมาเร็ว และหมดช้า หรือใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป รวมถึง ปัจจัยอื่นๆ เช่น น้ำหนักเกิน ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2-5 แก้วต่อวัน ชอบรับประทานอาหารปิ้งย่าง ไขมันสูง

นายแพทย์ไนยรัฐ ประสงค์สุข

นายแพทย์ไนยรัฐ ประสงค์สุข ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า “ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถป้องกันอันตรายที่จะตามมาของโรคมะเร็งได้ ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองและจากแพทย์ ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรม สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมได้สูงถึง 30% ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งในระยะแรก แล้วได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้”

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2559 ระบุว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของไทย และมีผู้ป่วยจำนวนมากกว่าครึ่งเสียชีวิตจากโรคนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ด้านโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน นายแพทย์ไนยรัฐ ให้ความเห็นว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ระบบการตรวจคัดกรองดีขึ้น การวินิจฉัยดีขึ้น ผนวกกับผู้ป่วยในปัจจุบันมีการดูแลใส่ใจสุขภาพตนเอง ทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้มากขึ้น โอกาสที่จะรักษาได้หายขาดก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

เภสัชกรหญิงนฤมล ฉินกมลทอง

เภสัชกรหญิงนฤมล ฉินกมลทอง ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า “ตอนที่คลำเจอก้อนที่เต้านม ตอนนั้นเราอายุ 34 ปี ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่เราเองก็อยู่ในวงการยาวงการแพทย์ เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็รีบมาปรึกษาคุณหมอ ปรากฎว่าพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ซึ่งนับว่าโชคดีมาก เพราะเจอเร็วก็รักษาหายได้เร็ว”

ในกรณีที่ผลวินิจฉัยออกมาว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม การรักษาจะอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยทางเลือกในการรักษามะเร็งเต้านม ก็มีทั้ง การผ่าตัด เหมาะสำหรับการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรก ซึ่งปัจจุบันไม่จำเป็นต้องตัดทิ้งทั้งเต้า แต่สามารถเลือกการผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ คือการตัดเฉพาะบริเวณส่วนของเนื้อมะเร็งและเนื้อเยื่อเต้านมบริเวณข้างเคียงออก การใช้ รังสีรักษา หรือที่มักเรียกว่า “การฉายแสง/ฉายรังสี” นอกจากนี้ ยังมี การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน หรือยาต้านฮอร์โมน ใช้กับมะเร็งบางประเภทที่ไวต่อฮอร์โมน การใช้เคมีบำบัด (chemotherapy) หรือ ให้คีโม เป็นการใช้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งที่คนส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นเคยกันอยู่แล้ว หรือในปัจจุบันมีการรักษามะเร็งเต้านมวิธีใหม่ คือ การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง หรือ targeted therapy ซึ่งเป็นการรักษาที่มียาจำเพาะกับมะเร็งที่มีความผิดปกติจำเพาะที่ไวต่อยานั้นๆ

“การรักษาของผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน อย่างที่เราเป็นเต้านม 2 ข้างก็ยังรักษาคนละแบบเลย ข้างซ้ายมีทานยาฮอร์โมนกับฉายแสง ส่วนข้างขวาทั้งทำคีโม ฉายแสง ให้ยาพุ่งเป้า จัดเต็มมากๆ ดังนั้น อยากแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนดูแลใส่ใจสุขภาพและเต้านมของตัวเอง ถ้าคลำเจอก้อนหรือรู้สึกว่าเต้านมของตัวเองมีความผิดปกติ ควรศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แล้วไปปรึกษาคุณหมอ มะเร็งเต้านมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทางเลือกในการรักษาก็ดีกว่าสมัยก่อนมาก ผลข้างเคียงอะไรก็น้อยลงค่ะ” เภสัชกรหญิง นฤมล กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายแพทย์ไนยรัฐ กล่าวเสริว่า “การที่คนไข้มีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม จะทำให้คนไข้สามารถพูดคุยกับคุณหมอเกี่ยวกับโรคและการรักษาได้ลึกซึ้งและชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความเข้าใจด้านการรักษาและดูแลตัวเองให้หายจากโรคได้ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีข้อมูลมากมายบนอินเตอร์เน็ต แต่หมออยากแนะนำให้คนไข้เลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ของมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย หรือหากใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นประจำ ก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Pink Alert ที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมที่เข้าใจง่าย มีแบบทดสอบเบื้องต้นว่าเราเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เทคนิคการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ค้นหาโรงพยาบาลที่ดูแลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง คำถามที่พบบ่อย และยังมีฟังก์ชั่นการตรวจเช็คนัดกับคุณหมอได้อีกด้วย”

แอปพลิเคชั่น Pink Alert สามารถดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้งระบบ IOS และ Android

เรื่องที่เกี่ยวข้อง