ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.หนุน อปท.ทั่วประเทศ ปี 62 รุก “กองทุนสุขภาพท้องถิ่นระดับตำบล” ขับเคลื่อนใช้ “ประกาศหลักเกณฑ์ดำเนินงานกองทุนฉบับใหม่” แก้ปัญหา อุปสรรค สอดคล้องการดำเนินงานในพื้นที่ เน้นสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ร่วมดูแลสุขภาพประชาชน

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” เป็นกลไกสำคัญภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มุ่งให้เกิดการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เน้นสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในพื้นที่ มีหลายพื้นที่ได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้มีการออก “ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561” ลงนามโดย ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการแก้ไขประกาศฉบับเดิม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ประกาศฉบับนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรา 47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และแนวทางดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย มุ่งส่งเสริมบทบาทกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ ทั้งประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข จัดทำแผนสุขภาพชุมชน ส่งเสริมสุขภาพให้มีมาตรการและกติกาทางสังคม พัฒนการบริหารจัดการกองทุนให้มีธรรมาภิบาล สร้างความเป็นเจ้าของกองทุน และจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับสุขภาพของคนในชุมชน

พร้อมสนับสนุนแนวทางดำเนินกิจกรรมกองทุนใน 5 ประเภท คือ 1.การจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สถานบริการ หรือหน่วยงานสาธารณสุข 2.การจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคขององค์กรหรือกลุ่มประชาชน หรือหน่วยงาน 3.การจัดบริการสาธารณสุขของศูนย์เด็กเล็กหรือศูนย์ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน หรือการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุหรือคนพิการในชุมชน 4.สนับสนุนค่าใช้จ่ายบริหารหรือพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพของ อปท.ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินรายรับกองทุน และ 5.สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขตามความจำเป็น เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศฉบับใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม อาทิ ปรับถ้อยคำให้ชัดเจนและเอื้อต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนมากขึ้น, เพิ่มวงเงินค่าครุภัณฑ์ที่ต้องใช้ในโครงการขององค์กรหรือกลุ่มประชาชนเป็น 10,000 บาท, ยกเลิกการกำหนดบทยุบเลิกกองทุน เป็นการใช้มาตรการทางบริหารกำกับ ติดตามและกระตุ้นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง, นำรายได้ตามขนาด อปท.มาเป็นเกณฑ์กำหนดอัตราสมทบ, ยกเลิกกำหนดวงเงินไม่เกินร้อยละ 15 ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อลดการมีเงินคงเหลือในกองทุน, และการยกเลิกการกำหนดอัตราชดเชยค่าบริการการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดเกี่ยวกับอัตราชดเชยและรองรับกรณีมีการเพิ่มวงเงินในการสนับสนุนในอนาคต โดยให้เป็นดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการ LTC เป็นต้น

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในประกาศกองทุนฯ ฉบับใหม่นี้ เป็นไปตามความเห็นและข้อเสนอแนะจากอนุกรรมการตรวจสอบ สปสช., สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และข้อเสนอจากกระบวนการรับฟังความเห็น 4 ภาคร่วมกับ อปท. โดยมีคณะทำงานจัดทำข้อเสนอปรับปรุง และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“ประกาศกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับท้องถิ่นฯ ฉบับนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้ อปท.ทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความชัดเจนในทางปฏิบัติและเป็นไปทิศทางเดียวกัน รองรับการเบิกจ่ายกองทุนให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง นำไปสู่การสร้างประโยชน์ด้านสุขภาพให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นฯ จากนี้ไป จะเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและชุมชนในอนาคต เพื่อร่วมดูแลสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนทั่วประเทศต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว