ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวอย่างบทเรียนจากต่างประเทศเรื่องผลกระทบจากการประกาศกฎหมายใช้กัญชาทางการแพทย์ และใช้กัญชาอิสระ

ผลกระทบจากการประกาศใช้ทางการแพทย์ในอเมริกานั้น มีการนำเสนออยู่ในงานวิจัยหลายชิ้น อาทิ งานของ Maxwell JC และคณะ ตีพิมพ์งานวิจัยในปี 2016 โดยทำการศึกษาที่ซีแอทเทิลและเดนเวอร์ พบว่า

1. ความตระหนักถึงความเสี่ยงและอันตรายของกัญชาลดลงอย่างชัดเจนในหมู่เด็กและเยาวชน

2. อัตราการใช้เพิ่มขึ้นมากในกลุ่มผู้ใหญ่

3. อัตราการตรวจพบการเสพกัญชาในคนขับขี่ยานพาหนะสูงขึ้นมาก

4. อัตราการเข้ารับการรักษาในแผนกฉุกเฉิน และรักษาตัวในโรงพยาบาล ในเดนเวอร์ จากปัญหาการใช้กัญชาสูงขึ้นมาก

5. อัตราการโทรปรึกษาศูนย์พิษวิทยา เกี่ยวกับปัญหาผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชาสูงขึ้นมาก

6. อัตราการจับกุมคดียาเสพติดลดลง เพราะกัญชาถูกทำให้ถูกกฎหมาย ทั้งใช้แบบเสรี และแบบการแพทย์โดยลักลอบหรือแอบอ้างใช้หรือแกล้งป่วยเพื่อขอใช้

7. สถิติในซีแอทเทิลคล้ายคลึงกับเดนเวอร์ และมีรายงานจำนวนการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นและบ่อยครั้งขึ้นมาก

ในปีถัดๆ มา เริ่มมีคนสนใจที่จะศึกษาผลกระทบต่อพฤติกรรมการเสพยาเสพติดในประชากรกลุ่มต่างๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด หลังจากนโยบายกัญชา ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Terry-McElrath YM และคณะ เพิ่งตีพิมพ์ในปี 2018 นี้ โดยชี้ให้เห็นว่า

จากการติดตามกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานในอเมริกา พบว่ามีสัดส่วนของการกินเหล้าร่วมกับการเสพกัญชาเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้พบว่าคนอายุตั้งแต่ 19-22 ปี ที่กินเหล้านั้น มีถึง 1 ใน 3 ที่ยอมรับว่าเสพกัญชาด้วย ในขณะที่อายุ 23-30 ปี จะมีราว 1 ใน 4 ที่เสพกัญชาด้วย

ผลการติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเสพดังกล่าวจึงบ่งชี้ให้สังคมได้เห็นว่า การผลักดันกฎหมายกัญชาที่ทำไปในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการเสพสิ่งเสพติดของทั้งเด็กและวัยทำงาน

นอกจากนี้ หากไม่กล่าวถึงกลุ่มแม่และเด็กทารกก็คงจะกระไรอยู่ ทีมงานวิจัยของ Stroud LR ได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่น่าวิตกสำหรับสังคมทั่วไป โดยทำการศึกษาผลของการเสพหรือใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์จำนวน 111 คน พบว่า

หากแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีการใช้กัญชา ไม่ว่าจะปริมาณมากน้อยเพียงใด และไม่ว่าจะเสพสิ่งเสพติดอื่น เช่น บุหรี่ร่วมด้วยหรือไม่ ก็จะมีผลต่อสมอง พฤติกรรม ของลูกในครรภ์ โดยจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงมากกว่า 2 เท่า ที่จะทำให้ลูกคลอดออกมาแล้วมีความผิดปกติต่างๆ เช่น การเพิกเฉยต่อสิ่งกระตุ้น มีปัญหาในการควบคุมตนเอง ฯลฯ

เหล่านั้นเป็นสิ่งที่พบจากต่างประเทศ ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ที่เพียบพร้อมกว่าไทย รวมถึงตัวบทกฎหมาย ระเบียบ และการบังคับใช้ที่ค่อนข้างเข้มงวดกว่าไทย ยังไม่นับเรื่องระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของประชากร รายได้ประชาชาติ และอื่นๆ

เรา...กำลังเดินตามย่างก้าวที่เขานำมาก่อนเรากว่าทศวรรษ

เรา...พยายามเหลือเกินที่จะอ้างว่ากลัวตามเขาไม่ทัน เห็นเขาปลูก ขาย และใช้ ก็จะเอามั่ง จะได้เอาเงินเข้าประเทศ ประหยัดโน่นนี่นั่น โดยไม่ดูตัวเราเลยว่าระดับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การปฏิบัติตามกฎระเบียบของประชากรในประเทศ และเรื่องอื่นๆ นั้นมันต่างกันราวฟ้ากับเหว

เรา...ไม่เคยวิเคราะห์เจาะลึกว่า ถ้าเกิดผลกระทบต่อลูกหลานและคนในสังคมในเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว จะมีการวางแผนจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร

เรา...ทำทุกทางที่จะปลุกเร้าอารมณ์คนในสังคมให้บ้าคลั่งผลักดันนโยบายออกมาโดยไม่รู้ลึก รู้รอบ และรู้จริง แต่อาศัยตำแหน่งอำนาจ และพรสวรรค์ด้านการปลุกเร้าอารมณ์แบบที่คุ้นชินมาตลอด ใครไม่เห็นด้วยถือว่าเลวหมด ต้องกำจัดให้สิ้นซาก ซึ่งหากคนติดตามและคิดตาม ย่อมทราบดีว่า นี่คือวิสัยของการคิดดีทำดีหรือไม่ อย่างไร

การเปรียบเทียบว่ากัญชาไม่ทำให้คนตาย กัญชาพิษร้ายน้อยกว่าเหล้าและบุหรี่นั้น เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง ด้วย 2 เหตุผลหลักคือ

หนึ่ง สังคมมีสิ่งที่ไม่ดีอยู่แล้วอย่างเหล้ากับบุหรี่ เหตุใดจึงกระหายจะเอาสิ่งที่ร้ายมาเพิ่มเติมให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แม้จะอ้างเอามาทดลอง แต่จริงๆ ก็ทำได้อยู่แล้ว แต่ต้องมีขั้นตอนการขออนุญาตจัดการ ยาก นาน แต่ปลอดภัยต่อสังคม

สอง เหล้าบุหรี่ปรากฏมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดนศึกษาวิจัยจนทะลุปรุโปร่งว่าร้ายกาจเพียงใด แต่กัญชา เสพติดเช่นกัน วิธีเสพหลากหลาย และมีหลายทางที่เหมือนเหล้าบุหรี่ เพียงแต่ยังไม่ได้รับการศึกษาวิจัยอย่างมากมายเหมือนเหล้าบุหรี่

ดังนั้นหากปล่อยยาเสพติดแบบนี้ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น อีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า ก็มีโอกาสเห็นพิษร้ายของมัน ซึ่งอาจเทียบเท่าหรือร้ายกว่าก็เป็นได้ ถึงตอนนั้นยังไงก็กลับตัวให้มาเหมือนอดีตไม่ได้แล้ว

เวลาเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรง โปรดเชื่อมั่นแพทย์ที่อิงหลักวิชาการสากล มิใช่ยึดถือดูแค่ตำแหน่งหรืออายุ ความเป็นความตายไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

ตอนนี้อาจสายเกินแก้ ที่จะยับยั้งนโยบายที่ขับเคลื่อนโดยอารมณ์ เพราะเข้าสู่กระบวนการต่างๆ ไปไกล และไม่อยู่ในวิสัยที่ปุถุชนคนธรรมดาในสังคมจะไปเรียกร้องได้ หวังเพียงแต่ละคนในสังคมไทย ดูแลคนในครอบครัวให้ดี ต้องช่วยเหลือตนเองมากขึ้น

หมอที่ดีทั้งหลายก็จำเป็นต้องดูแลคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สิ่งเสพติดเหล่านี้ในอนาคต และจะมีเคสมากขึ้นที่อาการโรคแย่ลง เพราะไปใช้สิ่งเหล่านี้

ขอให้ทำใจให้เข้มแข็ง ถ้าเราไม่ช่วยกันดูแล ผู้ป่วยก็จะไม่มีที่พึ่ง ประชาชนอาจทำได้เพียงการตามข่าว คิดให้ดี รู้เท่าทัน ดูแลลูกหลานตัวเองให้ดีอย่างใกล้ชิด และจดจำว่าใครบ้างที่ทำอะไรไว้ เป็นบุญหรือบาป อนาคตจะได้เห็น ไม่ช้าก็เร็วครับ

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง: 1. Maxwell JC et al. What Do We Know Now About the Impact of the Laws Related to Marijuana? J Addict Med. 2016 Jan-Feb;10(1):3-12. doi: 10.1097/ADM.0000000000000188.

2. Terry-McElrath YM et al. Simultaneous Alcohol and Marijuana Use Among Young Adult Drinkers: Age-Specific Changes in Prevalence from 1977 to 2016. Alcohol Clin Exp Res. 2018 Sep 14. doi: 10.1111/acer.13879. [Epub ahead of print]

3. Stroud LR et al. Prenatal tobacco and marijuana co-use: Impact on newborn neurobehavior. Neurotoxicol Teratol. 2018 Sep 26;70:28-39. doi: 10.1016/j.ntt.2018.09.003. [Epub ahead of print]

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย