ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการถอดรหัส ยึด สสส. ชี้ ชนชั้นนำ-ทุนภายใต้ระบบอุปถัมป์ จับมือบงการ สร้างกลไกรัฐเร้นลึก ล้วงลูกหวังจัดระเบียบย้อนยุคสลายภาคประชาชน หนุน สสส.ปลดล็อคการทำงาน เปิดการมีส่วนร่วม มั่นใจ ปชช.พร้อมยืนสู้ค้ำยันเคียงข้าง ด้าน’หมอสุภัทร’ แจงตัวเลข 44% เงินเทกระจุกภาครัฐ ชี้คลังคุมบอร์ด สสส.ปรารถนาดีประสงค์ร้าย สวนทางภัยคุกคามสุขภาพสูงลิ่วแต่จำกัดเงินสร้างเสริมสุขภาพ แนะทางออกฟังเสียง ปชช. หลังลุกขึ้นต้านทุกพื้นที่

วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2561) เวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) มีการจัดเวที ถกแถลง “แก้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ยั่งยืนหรือย่ำแย่” โดยในเวทีมีการอภิปรายประเด็นที่กำลังเป็นกระแสในสังคมเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ พ.ร.บ.สสส. โดยมีเครือข่ายด้านสุขภาพกว่า 30 เครือข่ายเข้าร่วม

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ทางเครือข่ายนักวิชาการในภาคใต้ ซึ่งติดตามสถานการณ์มาตลอด ตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการเสริมเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ไม่อาจพิจารณาแยกเดี่ยวๆ หรือคิดว่าเป็นเพียงการแก้ไข พ.ร.บ.สสส. อันเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการดำเนินงานและเจตนารมณ์ของการจัดตั้งองค์กรเท่านั้น เพราะหลายปีมานี้โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร ได้มีความพยายามในการออกแบบระบบ โครงสร้าง และกลไกทางการเมืองใหม่ ทว่าเป็นการนำระบบเก่ามาปัดฝุ่นสร้างใหม่ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของอภิสิทธิ์ชน ชนชั้นนำ การขับเคลื่อนด้วยระบบราชการ กองทัพและธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่พัฒนาการและเติบโตมากับระบบและเครือข่ายอุปถัมภ์ มีการออกแบบสร้างกลไกเชิงสถาบันแบบรัฐเร้นลึก ที่ซ้อน ทาบทับ แทรกแซงในทุกอำนาจ ทั้งตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติ ด้วยรัฐธรรมนูญ แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ หรือแม้กระทั่งกฎหมายโดยทั่วไป

การเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบเข้มข้นในทุกระดับซึ่งถือว่ากลุ่มอภิสิทธิ์ชน ชนชั้นนำเหล่านี้มีความสำเร็จอันเหลือเชื่อ ในการหวนคืนกลับมาทวงคืนอำนาจคืนจากประชาชน ที่ต้องยอมรับว่าเติบโตขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ในช่วง 2-3 ทศวรรษมานี้ แต่กระนั้นการสร้างสร้างความมั่นคงให้กับระบบใหม่และระบบการเมืองใหม่ รัฐอำนาจนิยม ที่นำโดยอภิสิทธิ์ชน ชนชั้นนำ ระบบราชการ กองทัพจะพยายามในทุกวิถีทางที่จะ ลิดรอน จำกัด กำกับ ควบคุม สั่งการ สลายประชาชนและเครือข่ายใหม่ๆที่ เช่น การแช่แข็งการเมืองท้องถิ่น การปลดบอร์ด สสส. ฯลฯ” นักวิชาการผู้นี้ ระบุ

รศ.ดร.ณฐพงศ์ ยังระบุด้วยว่า การแก้ พ.ร.บ.สสส. จึงเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของการ ลิดรอน จำกัด กำกับ ควบคุม สั่งการสลายเครือข่ายใหม่ที่เกิดขึ้น ทั้งหมดที่กล่าวมาคือรูปธรรม ยืนยันและตอบคำถามที่ชัดเจนอยู่แล้วว่ายั่งยืน หรือย่ำแย่ และยังทำให้ย่ำแย่ลงไปกว่านี้อีกถ้ายังอยู่ในอำนาจ หรือกลับมามีอำนาจหลังการเลือกตั้ง ทางออกภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ แม้ สสส.จะสร้างคุณูปการไว้มากมายจากนวัตกรรมสุขภาพแนวใหม่ๆ ที่ทำให้ประชาชน สังคม ชุมชน ท้องถิ่น สามารถเรียนรู้ เติบโต มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ สลายการผูกขาด ลดอำนาจรัฐและทุน เพิ่มอำนาจคนเล็กคนน้อยให้ปลดปล่อยพลังอันสร้างสรรค์ออกมาจัดการตนเองชุมชน ท้องถิ่นของตนได้ เป็นต้น แต่ สสส.เองก็ต้องปฏิรูปตนเองให้เป็นองค์กรแบบเปิด มีโครงสร้าง ระบบบริหารและการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม ซึ่งหากทำได้ เชื่อมั่นว่าเมื่อถึงวันที่ใครจะคิดจัดการ ควบคุมองค์กร สสส. ไปในทิศทางที่ขัดกับเจตนารมณ์การก่อตั้งองค์กรแล้วมวลชนก็พร้อมจะยืนอยู่เคียงข้าง

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สถานการณ์ด้านภัยคุกคามต่อสุขภาพในประเทศไทยในปัจจุบัน มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ดังจะเห็นว่าอัตราการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อร้ายแรง เช่น เบาหวาน อยู่ที่ 4 ล้านคนในปี 2561 และคาดว่าจะสูงขึ้นเป็น 5.2 ล้านคนในปี 2583 อีกทั้งยังมี ความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง ซึ่งงานของ สสส.ที่ผ่านมาคือการมุ่งเป้าลดปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ โดย สสส.ได้งบจากภาษีเหล้าบุหรี่ ปีละ 2% โดยภาษีเหล้าบุหรี่ 100% ที่เก็บได้ราวปีละ 2 แสนล้านบาท ก็จะเก็บเพิ่มจากผู้ประกอบการมาให้ สสส.ทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพคนไทย

“โดยในปี 2560 สสส.ได้รับงบ 4,400 ล้านบาท งบจำนวนนี้ 44% หรือเกือบ 2,000 ล้านบาท ถูกใช้โดยภาครัฐ ที่เหลือเป็นโครงการของมูลนิธิ มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ชุมชนและองค์กรประชาชน และมีผลการทำงานที่น่าทึ่งมาก และต่างประเทศนั่นก็ชื่นชม แน่นอนที่สุดว่าในความสำเร็จจำนวนมากนั้นมิใช่มาจาก สสส.เพียงองค์กรเดียว แต่ สสส.เป็นแกนสำคัญในการเชื่อมร้อยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนคนเล็กคนน้อยให้ร่วมกันลุกขึ้นมาจัดการระบบสุขภาพของตัวเอง ชุมชนและไปจนถึงระดับชาติ” นพ.สุภัทร ระบุ

นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่ากระทรวงการคลังสนใจที่จะแก้กฎหมาย สสส. ทำ 2 อย่างคือ 1.ต่อไปนี้จะจำกัดวงเงินที่ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น หากเกินกว่านี้ต้องส่งเข้าคลัง และ 2.ให้นำระเบียบกระทรวงการคลังมาจับในการใช้เงิน กฏกติกา ระเบียบการดำเนินงานต่างๆ ที่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด สสส. ยังต้องนำไปผ่านความเห็นชอบกับกระทรวงการคลังอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมากที่ประธานบอร์ด สสส.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้แทนกระทรวงการคลังอยู่ในบอร์ด แต่กลับต้องไปให้กระทรวงการคลังรับรองอีก ซึ่งชัดเจนว่าทั้ง 2 ข้อนี้คือปรารถนาดีที่ประสงค์ร้าย

“เมื่อภัยคุกคามทางสุขภาพมากขึ้น งบต่อสู้กับภัยคุกคามทำไมต้องถูกจำกัดให้คงที่ด้วย อันนี้ไม่สมเหตุสมผล บริษัทเหล้าบุหรี่ รวมถึงสินค้าทำลายสุขภาพอื่นๆ ย่อมได้ประโยชน์จากการนี้ แถมนอกจากจะลดเงินแล้ว ยังเอาระเบียบกระทรวงการคลังมาจับในการใช้เงินแทนระเบียบ สสส.ด้วย ทำให้ภาระการบริหารจัดการสูงขึ้นอีกมาก เช่น ต้องทำเอกสารอย่างหนาเพื่อซื้อของหรือเมื่อทำกิจกรรม คนอาสามาสร้างสุขภาพก็จะเสียเวลาทำแต่เอกสาร จนไม่มีเวลามาลงทำกิจกรรมระดับชุมชน มีเวลาในการสร้างสุขภาพลดลง” นพ.สุภัทร ระบุ

นพ.สุภัทร กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังจะแก้กฎหมายนี้ จึงเท่ากับจะรวบอำนาจกลับไปให้กับกระทรวงกรมกองราชการ อย่าให้ สสส.มีประสิทธิภาพสูง ต้องทำให้ สสส.มีประสิทธิภาพด้อยลง อีกทั้ง คสช.รีบเร่งอย่างมากที่จะแก้กฎหมาย สสส. ให้ได้ในรัฐบาลนี้ จึงมีเลศนัยยิ่ง เราจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ขอให้หยุดกระบวนการแก้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และยุติการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมาย www.lawamendment.go.th โดยทันที ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวของหลายๆ จังหวัดที่ต้องการปกป้องเจตนารมณ์ของการก่อเกิด สสส. มีการยื่นหนังสื่อคัดค้านแทบทุกวัน จึงอยากให้ คสช.ฟังเสียงเขาเหล่านั้นด้วย” นพ.สุภัทร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง