ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนระบบความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข เพื่อลดความเสี่ยงในการทำงาน ด้วยแนวทาง “SIMPLE” เพื่อมุ่งสู่การเป็น 2P Safety Hospital

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เช็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กทม. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการขับเคลื่อนระบบความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (Patient and Personnel Safety) ในระบบบริการสุขภาพ” เนื่องในโอกาสการประชุมเชิงปฏิบัติการ Shared vision สู่การเป็น 2P Safety Hospital จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) มุ่งผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข โดยมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารโรงพยาบาลและบุคลากรเข้าร่วมรับฟัง

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในปีนี้เป็นปีที่ 2 หลังการประกาศนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วม จำนวน 401 แห่ง ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนในทุกสังกัด แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวในการให้ความสำคัญ โดยในปีนี้ได้กำหนดหมวดหมู่การสื่อสาร ในการสร้างระบบความปลอดภัยว่า “SIMPLE” เพื่อใช้สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก เน้นสร้างความตระหนักแก่บุคลากรและสร้างความเข้าใจให้ประชาชน ประกอบด้วย S-Safe Surgery ความปลอดภัยด้านศัลยกรรม I-Infection Prevention and Control การควบคุมการป้องกันการติดเชื้อ M- Medication Safety ความปลอดภัยทางยา P-Process of Care กระบวนการดูแลผู้ป่วยปลอดภัย L-Line tube and Laboratory Safety ความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ และ E-Emergency Response การตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน

กลุ่มที่ 2 เน้นดูแลบุคลากรให้ปลอดภัยจากการทำงาน ประกอบด้วย S: Security of Information and Social Media Safety การวางระบบที่รัดกุมและปลอดภัย เท่าทันการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารโดยระมัดระวังไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย I: Infection and Exposure การวางระบบเพื่อบุคลากรที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการทำงาน M: Mental Health and Mediation สภาวะจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน ระบบดูแลบุคลากรเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และระบบเจรจาไกล่เกลี่ยในโรงพยาบาล P: Process of work การให้ความสำคัญกับโอกาสเกิดโรคจากการประกอบอาชีพ L: Lane and Legal Issue ความปลอดภัยด้านรถพยาบาล คนขับ เส้นทางการจราจร และข้อกฎหมายที่สำคัญต่อการทำงาน และ E: Environment and Working conditions ความปลอดภัยของบุคลากรในด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉิน ความสำคัญของเวลาการทำงาน และความสมดุลของชีวิต

“ประเทศไทยได้ประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของผู้ป่วยตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ซึ่งไทยมีโอกาสพัฒนาในเรื่องระบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น ความไม่ปลอดภัยจากการผ่าตัด การติดเชื้อจากการรักษา เชื้อดื้อยา เพื่อเรียนรู้จากข้อผิดพลาดมาพัฒนาระบบเพื่อป้องกันในระดับประเทศ ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ชุมชน และสังคม เชิญชวนให้ทุกโรงพยาบาลหาแนวทางวางระบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น” นพ.ปิยะสกล กล่าว