ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังจากที่แพทยสภาได้ปิดรับสมัครผู้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการแพทยสภา วาระ 2562-2564 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ได้สรุปยอดผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติทั้งสิ้น 117 คน ในระหว่างนี้แพทยสภาได้จัดส่งใบลงคะแนนเลือกตั้งไปยังสมาชิกแพทยสภาทั่วประเทศ และให้ทยอยส่งใบลงคะแนนกลับมายังแพทยสภาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม เป็นต้นมา และจะมีการเปิดหีบนับคะแนนในวันที่ 8 มกราคม 2562 ผู้รับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนสูงสุด 29 คนแรก จะผ่านเข้าไปเพื่อทำหน้าที่กรรมการแพทยสภาร่วมกับกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง 29 คน รวม 58 คน เป็นคณะกรรการแพทยสภาชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่แทนคณะกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบันที่มี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นนายกแพทยสภาที่จะหมดวาระในวันที่ 31 มกราคม 2562

เมื่อดูโฉมหน้าผู้ลงรับสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้พบว่า ยังคงมีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบันลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวนมากเพื่ออาสาเข้ามาทำหน้าที่กรรมการแพทยสภาอีกครั้ง หลายคนเคยดำรงตำแหน่งกรรมการแพทยสภามาแล้วหลายสมัย อย่างไรก็ตามเมื่อดูทีมการลงสมัครรับเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาในวาระนี้ นอกจากทีมเดิมที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ยังปรากฏทีมใหม่ที่มีผู้สมัครหน้าใหม่ และผู้ที่เคยอยู่ร่วมทีมเดิมในอดีตแต่ได้แยกตัวออกมารวมทีมใหม่เพื่อลงสมัครแข่งขัน โดยทีมรับเลือกตั้งที่ได้ปรากฏการนำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายผ่านสื่อต่างๆ มีด้วยกัน 6 ทีม ประกอบด้วย ทีมเพื่อนแพทย์ ทีมพลังแพทย์ ทีมชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ ทีมกลุ่มแพทยเพื่อประชาชน ทีมชมรมแพทย์อาสา ชพส. และทีมกลุ่มแพทย์เชื่อมสังคม

จากข้อมูลของแต่ละทีมที่ได้มีการนำเสนอนั้น

1.เริ่มจากทีมแรก “ทีมเพื่อนแพทย์” เป็นผู้สมัครหมายเลข 1-9 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่คุ้นหน้าคุ้นตาในวงการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งยังถูกเรียกว่า “ทีมแพทยสมาคม” อีกชื่อหนึ่ง เพราะนอกจากมีชื่อ ศ.นพ.รณชัย คงสกณธ์ นายกแพทยสมาคมคนปัจจุบันร่วมในทีมแล้ว ในการหาเสียงยังเน้นย้ำการทำงานที่มุ่งประสานงานทีมแพทยสมาคมฯ เข้ากับแพทยสภาที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ โดยมีสโลแกนหาเสียงภายใต้วิสัยทัศน์ “ประสานความร่วมมือ พิทักษ์ความเป็นธรรมให้เพื่อนแพทย์”

2.ทีมต่อมา “ทีมพลังแพทย์” ผู้สมัครหมายเลข 10-31 นำโดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษากรรมาธิการสาธารณสุข สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วยทีมผู้สมัครรวม 22 คน สโลแกนหาเสียงภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งมั่นปฏิรูปแพทยสภา นำแพทย์ก้าวล้ำยุค disruptive tech AI & Big Data” โดยมีนโยบายหลักสำคัญ คือการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ต้องไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ยกเว้นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจงใจกระทำความผิด และต้องไม่ถูกฟ้องใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2550

3.ส่วน “ทีมชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.)” ผู้สมัครตั้งแต่หมายเลข 32-60 เป็นทีมที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งครบจำนวนกรรมการแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยทีมชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์นับเป็นทีมเลือกตั้งเดิมที่ลงสมัครเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนแพทย์ และผ่านการเลือกเข้าเป็นกรรมการแพทยสภามาก่อน หลายคนยังทำหน้าที่ต่อเนื่องหลายสมัย อาทิ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกแพทยสภามาแล้ว 3 สมัย, นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ และ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการแพทยสภา

ส่วนการหาเสียงได้เน้นความเป็นทีมที่ประกอบด้วยตัวแทนแพทย์ทุกภาคส่วน ทั้งโรงเรียนแพทย์ รพ.รัฐ รพ.เอกชน รพ.สังกัด สธ.ทุกระดับ ผู้ปฏิบัติงานจริง กทม. เอกชน และคลินิก ภายใต้สโลแกน “เราอาสา เรารู้จริง เราทำได้ เพราะเราทำเป็นทีม” พร้อมชูนโยบายแพทยสภาต้องทำงานได้อย่างอิสระ ปราศจากการแทรกแซง และการให้คำมั่นสัญญาสิ่งที่จะทำ อย่างการโฆษณาไม่ต้องขออนุมัติและไม่มีโทษจำคุก การให้ รพ.เอกชนฝึกแพทย์เฉพาะทางได้ และแพทย์ต้องจ่ายยาและผสมยาได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นทีมที่หยิบยกผลงานที่ผ่านมานำเสนอ อาทิ ยกเลิกคำว่า “มาตรฐานที่ดีที่สุด เป็นตามภาระวิสัยและพฤติการณ์, หยุดยั้งกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์, ตึกแพทยสภา, โครงการหมอชวนวิ่ง และกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ เป็นต้น

4.สำหรับ “ทีมเพื่อนแพทย์เพื่อประชาชน” มีผู้สมัครจำนวน 29 คน เริ่มตั้งแต่หมายเลข 64-88 ล้วนเป็นผู้ที่ทำงานหรืออดีตเคยอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยตัวแทนผู้ตรวจราชการ รองอธิบดี นพ.สสจ. ผอ.รพศ./รพท./รพช. และข้าราชการเกษียณที่ทำงานในภูมิภาค ชูจุดเด่นของทีมในการลงสมัคร คือ “เราเป็นทีมแพทย์ภูมิภาค ทำงานเคียงคู่ท่านเพื่อประชาชน” เน้นการหาเสียงขอโอกาสให้แพทย์ภูมิภาคได้เข้ามาทำหน้าที่กรรมการแพทยสภา เป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าเดิม ภายใต้สโลแกน “เข้าถึง พึ่งได้ เพื่อแพทย์และประชาชน” มีนโยบายนำเสนอ อาทิ การดูแลพทย์ให้ได้รับความเป็นธรรม, ผลักดันให้มีกฎหมายพิจารณาทางการแพทย์, สร้างระบบเรียนต่อ มีทุน มีที่เรียน, รักษามาตรฐานวิชาชีพในการดูแลประชาชน และการสร้างเครือข่ายวิชาชีพทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

5.มากันที่ “ทีมชมรมแพทย์อาสา ชพส.” มีสมาชิกในทีมจำนวน 21 คน ผู้สมัครตั้งแต่หมายเลข 89-109 เป็นทีมใหม่ที่ถูกจับตา เนื่องด้วย นพ.อิทธิพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา อดีตสมาชิกทีม ชพพ. วาระนี้ได้แยกตัวออกมา ดึง 2 ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และ น.ท.นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ มารวมทีมที่เน้นเป็นทางเลือกคนรุ่นใหม่ พร้อมชักชวนเหล่าอาจารย์แพทย์ที่เป็นที่รู้จักคุ้นหูมาร่วม อย่าง นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์, นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน อดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมใช้สโลแกนหาเสียง ““ประสานงาน ประสานใจ ให้วงการแพทย์ไทย มั่นคงและยั่งยืน สำหรับจุดเด่นของทีม ชพส.ที่น่าสนใจ คือการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์แพทยสภา ปี 2562-2564 ที่ใช้เป็นจุดเด่นในการหาเสียง ประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาแพทยสภาทั้งในด้านการสื่อสารกับผู้ป่วยและประชาชน เทคโนโลยี การแก้ปัญหาภาครัฐ และด้านจริยธรรมและแก้กฎหมาย เป็นต้น

6.“ทีมกลุ่มแพทย์เชื่อมสังคม” ผู้สมัครหมายเลข 111-116 เป็นทีมที่มีสมาชิก 6 คน นำเสนอเป็นทีมทางเลือกใหม่ให้กับบรรดาแพทย์ ประกอบด้วยอาจารย์แพทย์และแพทย์รุ่นใหม่ที่มีบทบาทขับเคลื่อนทางสังคม อย่าง นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล, นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์, นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์, นพ.ศุภชัย ครบตระกูลชัย, นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ และ นพ.นิวัชร เรืองแสง นำเสนอแนวคิด “ผสานช่องว่าง สร้างศรัทธาวิชาชีพ” โดยเติมเต็มบทบาทแพทยสภาในการเชื่อมต่อแพทยสภากับสังคม แพทย์กับสังคม จากแต่เดิมเน้นเชื่อมระหว่างแพทยสภากับแพทย์

นอกจากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาเป็นทีมแล้ว ยังมีกลุ่มผู้สมัครอิสระ หนึ่งในนั้นมีชื่อ นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ อดีตเลขาธิการแพทยสภา และอดีต ผอ.รพ.มะเร็งสุราษฎร์ธานี ปรากฏรั้งท้าย จากแต่เดิมเคยสังกัดในทีม ชพพ. เมื่อการเลือกตั้งวาระที่แล้วและได้รับเลือกให้ดำเรงตำแหน่งเลขาธิการแพทยสภา แต่ด้วยกรณีการถอนฟ้องนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ คู่กรณีแพทยสภา ซึ่งทำให้ นพ.อิทธพร เข้ามาทำหน้าที่เลขาธิการแพทยสภาแทน

เหลือเพียงเวลาอีกเพียง 1 เดือนจากนี้ ก่อนจะมีการเปิดหีบนับคะแนน การหาเสียงคงดำเนินไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเหล่าบรรดาสมาชิกแพทย์ทั่วประเทศว่า จะกาบัตรวางใจให้แพทย์หน้าใหม่ได้พิสูจน์ผลงาน หรือยังเชื่อมั่นในหน้าตากรรมการชุดเดิมที่ทำงานมายาวนาน เพื่อพาแพทยสภาก้าวเดิน ประเดิมปีใหม่ วาระใหม่ และที่ทำการใหม่ตระหง่านโดดเด่นบนอาณาเขตกระทรวงสาธารณสุข

รายชื่อผู้สมัคร