ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกหน่วยงานย้ำ บทบาทคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เป็นจุดศูนย์กลางสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่

วันที่ 28 -29 พฤศจิกายน 2561 คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 7 ขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานมหกรรมสานพลังสร้างสุข “โฮมสุขอีสาน” ครั้งที่ 1 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติขอนแก่น (KICE) ในงานมีการการเสวนา เรื่อง กขป.ในอนาคต โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ สช. นพ.อิทธิพล สูงแข็ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. โดยมี ดร.ดุสิต ศรีโคตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ สช.

นพ.พลเดช กล่าวว่า กขป.เกิดจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกลไกใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมาประมาณ 2 ปี หน่วยงานนี้ไม่ได้ทำงานทับซ้อนบทบาทกับหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ แต่เน้นเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ผลลงไปสู่ประชาชนมากที่สุด เป็นกลไกในการหนุนเสริมและประสานงาน กขป.ไม่ได้ลงมือทำเองเพียงแต่เป็นผู้กำหนดประเด็นร่วมในการทำงานร่วมกัน เช่น ธรรมนูญพระสงฆ์ ขยะ อาหารปลอดภัย โดยแต่ละประเด็นนั้นไม่ใช่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นประเด็นที่ต้องทำงานร่วมกัน ตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง ตั้งงบประมาณเพื่อมาทำงานเอง ส่วน กปข.มีหน้าที่ตามไปช่วยขับเคลื่อน เพื่อให้งานของหน่วยงานปกติทำได้ดีขึ้นมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากขึ้น ดังนั้นความสำเร็จของ กขป. คือความสำเร็จของภาคีเครือข่ายทั้งหมด

นพ.อิทธิพล สูงแข็ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7

นพ.อิทธิพล กล่าวว่า กขป.เป็นส่วนหนุนเสริมในการทำงานของหน่ววยงานรัฐ โดยเฉพาะ สธ. ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ลำพังกระทรวง สธ. หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ เพราะปัญหาทางสุขภาพนั้นหมักหมมมายาวนาน โรคติดต่อที่เคยคิดว่าหายไปจากประเทศไทยแล้วเก่าก็ยังคงมีอยู่ และโรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ความดัน ก็มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น สธ.ดูแลปัจจัยด้านสุขภาพได้แค่ 20% อีก 80% อยู่นอกภาค สธ. โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมสุขภาพประชาชน ซึ่งส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือ การบูรณาการในลักษณะประชารัฐ ซึ่ง กขป.สามารถตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ เนื่องจากคณะกรรมการมาจากหลายภาคส่วน และยังเป็นการเชื่อมโยงองค์กรภาคสาธารณสุขลงไปสู่ประชาชนในพื้นที่

นพ.อิทธิพล กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กขป.มีจุดแข็ง คือ มีกรรมการมาจากหลากหลายหน่วยงาน ล้วนมาด้วยใจเป็นจิตอาสา และเป็นการประสานงานแนวราบ ซึ่งจะได้ผลดีมากกว่าการสั่งการจากส่วนกลางเหมือนในอดีต แต่ก็มีจุดอ่อน คือ เป็นองค์กรใหม่ แม้แต่สำนักงานก็ยังไม่มีเป็นของตัวเอง ต้องไปผูกกับ สปสช.หรือหน่วยงานอื่น แต่อนาคตอาจจะไปอยู่เขตสุขภาพของ สธ. เพราะเป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำงานคล้ายกัน มีเป้าหมายเดียวกัน เพียงแต่เขตสุขภาพเป็นหน่วยงานภาครัฐ ส่วนข้อด้อยที่สำคัญคืองบประมาณมีจำกัด ไม่มีบุคลากรเป็นของหน่วยงาน สำหรับจุดที่เป็นทั้งข้อด้อยและข้อเด่นคือการเป็นองค์กรที่ไม่ต้องไปทำงานเอง เป็นเพียงการเข้าไปเสริมเติมเต็มให้เกิดการทำงานในพื้นที่

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น

นพ.ปรีดา กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของ กขป. จะทำอย่างไรให้มีพันธะสัญญาร่วมกันในการนำความคิดเห็นของ กขป.ไปสู่หน่วยงานและขับเคลื่อนในส่วนของบทบาทหน้าที่ในการทำงานของหน่วยงานตนเอง เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ สปสช. ทาง สปสช.ก็จะเสนอต่อ อปสข. เพื่อขับเคลื่อนประเด็น ร่วมกับภาคีเครือข่ายของ สปสช. ทั้งหน่วยบริการ และภาคประชาชน การขับเคลื่อนงานนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า กขป.ไม่มีกำลังในการขับเคลื่อนเอง แต่เป็นเพียงหน่วยงานที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนได้มาพบปะกันเพื่อให้ได้แนวทางการทำงานร่วมกัน ดังนั้น กขป.จึงเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญในการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าว่า บทบาทของ สสส. เป็นเรื่องการรณรงค์เพื่อให้เกิดสุขภาวะ ซึ่งการทำงนร่วมกับ กขป. หาก สสส.ได้ร่วมมือกับ กขป. ในการทำงานร่วมกัน เพราะ สสส.มีงบประมาณประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท และมีการทำงานร่วมกับพื้นที่ ดังนั้นหาก กขป.ได้ใช้ประโยชน์จากงบประมาณของ สสส. จะทำให้สามารถขับเคลื่อนงานในพื้นที่ได้ โดยผ่านช่องทางที่มีอยู่