ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตรวจยีนแพ้ยาในผู้ป่วยโรคลมชักก่อนเริ่มให้ยารักษา ลดโอกาสความพิการและเสียชีวิตจากการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงชนิดกลุ่มสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม ซึ่งพบมากในประเทศมาเลเซียและไทย คาดจะลดจำนวนผู้ป่วยที่เกิดผื่นแพ้ยารุนแรงจากยาคาร์บามาซีปีน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ถึง 256.18 ล้านบาท

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มอบของขวัญปีใหม่เพื่อคนไทย ปี 2562 ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักก่อนเริ่มให้ยารักษา โดยการตรวจยีนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการแพ้ยากันชัก “คาร์บามาซีปีน” (Carbamazepine) ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างปลอดภัย ลดโอกาสความพิการและเสียชีวิตจากการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงชนิดกลุ่มสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม (Steven-Johnson Syndrome : SJS) และท็อกซิก อีพิเดอร์มัล เนโครไลซิส (Toxic Epidermal Necrolysis : TEN) ที่มีการหลุดลอกของผิวหนังและเยื่อเมือกบุอวัยวะภายในต่าง ๆ ซึ่งพบมากในประเทศมาเลเซียและไทย โดยในช่วง 10 ปี (พ.ศ. 2545-2554) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับรายงานผู้ป่วยที่มีผื่นแพ้ยารุนแรงราว 5,000 ราย เกิดจากยาคาร์บามาซีปีนปีละประมาณ 160-180 ราย และคาดว่าในปี 2562 มีผู้ป่วยโรคลมชักที่ต้องได้รับการตรวจยีน 29,534 ราย ใช้งบประมาณในการตรวจ 29.53 ล้านบาท โดยจะลดจำนวนผู้ป่วยที่เกิดผื่นแพ้ยารุนแรงจากยาคาร์บามาซีปีน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ถึง 256.18 ล้านบาท

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาและเปิดให้บริการเภสัชพันธุศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ที่ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วยมาเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยพบว่าคนไทยประมาณ 1 ใน 6 รายมียีน HLA-B*1502 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงชนิด กลุ่มสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม และท็อกซิก อีพิเดอร์มัล เนโครไลซิส มีการหลุดลอกของผิวหนังและเยื่อเมือกบุอวัยวะภายในต่าง ๆ อย่างรุนแรง อาจถึงขั้นตาบอดหรือเสียชีวิตได้ จึงได้พัฒนาเทคนิคการตรวจสารพันธุกรรมเสี่ยง HLA-B*1502 ที่มีราคาถูกและมีความถูกต้องเหมาะสำหรับคนไทย เพื่อนำมาใช้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยก่อนได้รับยากันชัก “คาร์บามาซีปีน” โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาส่งผู้ป่วยโรคลมชักรายใหม่ตรวจหายีนการแพ้ยาดังกล่าวก่อนให้ยาคาร์บามาซีปีนทุกราย และส่งตรวจได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง