ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ อย. แนะโรงพยาบาลใส่ใจ 4 ประเด็นก่อนจัดส่งยาทางไปรษณีย์ถึงบ้านผู้ป่วย ยืนยันสามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย เสนอให้ดึง “ร้านขายยา” ช่วยทำหน้าที่เป็นห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอก

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อภิปรายในงานเสวนาเรื่อง “แนวทางการส่งยาทางไปรษณีย์ในโรงพยาบาลรัฐที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร” ภายใต้งานประชุมสัมมนาเรื่อง “ถอดบทเรียนการส่งยาทางไปรษณีย์จากโรงพยาบาลรัฐถึงผู้ป่วยกับมาตรฐานวิชาชีพ” จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ตอนหนึ่งว่า หากพูดถึงเรื่องการจัดส่งยาทางไปรษณีย์โดยเฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐ จำเป็นต้องพิจารณาใน 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1. ความถูกต้องสอดคล้องตามกฎหมาย 2. ความถูกต้องของยาที่ผู้ป่วยได้รับ คือถูกคนถูกโรค 3. ความคงประสิทธิภาพของยา ทั้งส่วนของสภาวะในการจัดเก็บและการขนส่ง 4. ความเหมาะสมของปริมาณยาที่มีอยู่ในมือผู้ป่วย ทั้งการได้รับซ้ำซ้อนหรือมากเกินความจำเป็นหรือไม่

นพ.ธเรศ กล่าวว่า อย.ตีความว่าการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดจากการรอรับยาไม่จัดเป็นการ “ขายยา” ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และการดำเนินการจัดส่งทางไปรษณีย์ก็เป็นไปภายใต้ความรับผิดชอบของสถานพยาบาลนั้นๆ ซึ่งก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยานั้นจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ การประเมินจากทีมสหวิชาชีพ และเภสัชกรจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างละเอียด

สำหรับประสิทธิภาพการจัดเก็บนั้น ต้องมีระบบที่เหมาะสมตามข้อกำหนดของยาแต่ละประเภท หน่วยงานที่จัดส่งต้องมีสัญญาที่ชัดเจนกับสถานพยาบาลว่าเป็นการกระทำในนามของสถานพยาบาล หน่วยงานจึงจะได้รับการยกเว้นจากการต้องมีใบอนุญาตฯ

นพ.ธเรศ กล่าวต่อไปว่า ควรมีระบบตรวจสอบติดตามปริมาณยาที่คงเหลือกับผู้ป่วยเพื่อแก้ไขปัญหาการรับยาซ้ำซ้อนหรือมากเกินความจำเป็น และอาจพิจารณานำ “ร้านยา” เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการ เป็นเสมือนห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล ทั้งนี้เป็นไปเพื่อให้เภสัชกรเป็นผู้ควบคุมการส่งมอบยาให้แก่ผู้ป่วย ตรวจสอบความถูกต้องของผู้ใช้ยา และความเหมาะสมกับอาการป่วย คือถูกคนถูกโรค รวมถึงความเหมาะสมของปริมาณยาที่ได้รับด้วย ซึ่งอาจจะใช้ระบบ IT หรือระบบ online เข้ามาช่วยในการตรวจสอบ

“ผมคิดว่าถ้ามีการวางระบบโดยพิจารณาถึง 4 ประเด็นอย่างที่ได้กล่าวมา จะเป็นประโยชน์คือผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอรับยาจากห้องยา โดยยังคงได้รับการดูแลจากเภสัชกรที่เกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมเหมือนเดิม” นพ.ธเรศ กล่าว และว่า ปัจจุบันมีการใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลไปกับการให้ผู้ป่วยรอยาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากดำเนินการเรื่องการจัดส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมหมายถึงการลดความแออัดของโรงพยาบาล ลดภาระงาน ลดต้นทุนต่างๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ อย.สนับสนุนอย่างเต็มที่ และคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ขัดกับกฎหมายแต่อย่างใด” นพ.ธเรศ กล่าว