ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้นำชุมชน "แบนตาโพ" ชี้ แรงงานรายวันยังมีปัญหาเข้าถึงบริการสาธารณสุข ไม่ป่วยหนักไม่อยากไปโรงพยาบาลเพราะกลัวเสียรายได้ แนะหน่วยบริการในพื้นที่เปิดคลินิกนอกเวลา เพิ่มโอกาสให้แรงงานเข้ารับบริการหลังเลิกงานได้

นายบัณฑิตย์ ประชุม ผู้นำชุมชนแบนตาโพ ย่านสุเหร่าคลอง 1 ซอยกีบหมู กรุงเทพ กล่าวว่า ในชุมชนนี้เป็นย่านที่แรงงานรับจ้างรายวัน ช่างก่อสร้าง แม่บ้าน พักอาศัยจำนวนกว่า 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานที่เข้ามาขายแรงงานเมื่อหมดฤดูทำนา ลักษณะการรับจ้างคือแรงงานเหล่านี้จะไปยืนรอผู้ว่าจ้างอยู่ริมถนนในช่วงเช้าโดยมีนายจ้างที่ต้องการแรงงานขับรถมาเลือกดู หากตกลงค่าจ้างกันได้ก็จะขึ้นรถไปทำงานตามสถานที่ต่างๆ เมื่อเลิกงานแล้วนายจ้างจึงค่อยขับกลับมาส่งในช่วงค่ำๆ

นายบัณฑิตย์ กล่าวว่า ปัญหาด้านสุขภาพที่แรงงานกลุ่มนี้เจอคือ 1.นายจ้างไม่มีประกันอุบัติเหตุหรือประกันชีวิตให้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานจึงต้องดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเอง หากเสียชีวิตก็เสียชีวิตไปฟรีๆ ไม่มีการรับผิดชอบจากนายจ้างแต่อย่างใด 2.แรงงานกลุ่มนี้แม้จะมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เนื่องจากมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด บางรายไม่ได้ย้ายสิทธิรักษาพยาบาลมาใน กทม. เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้ ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินจริงๆ และ 3.การเจ็บป่วยต้องอาการหนักจริงๆ ถึงจะไปโรงพยาบาล เพราะการไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งใช้เวลานาน เสียเวลาทำงาน สูญเสียรายได้จากการทำงานไป รวมทั้งมีบางส่วนที่เจอกับพฤติกรรมบริการที่ไม่น่าประทับใจ

นายบัณฑิตย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนสิทธิบัตรทองหรือทำเรื่องย้ายสิทธิรักษาพยาบาลเป็นระยะๆ อย่างในก็ดีในทางปฏิบัติแล้วแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่กล่าวจะเลิกงานและกลับถึงที่พักก็ประมาณ 19.00-20.00 น. จึงไม่สามารถไปรับบริการในช่วงกลางวันได้ หากจะไปโรงพยาบาลก็จะเสียรายได้ในวันนั้นไปเลย ดังนั้น อยากเสนอให้หน่วยบริการที่รับผิดชอบประชากรกลุ่มนี้หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ พิจารณาในเรื่องความรวดเร็วในการให้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อที่แรงงานจะได้ไม่สูญเสียโอกาสในการหารายได้หรือหากเป็นไปได้อาจเปิดคลินิกนอกเวลาราชการ เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานสามารถเข้ารับบริการในช่วงเย็นหลังเลิกงานได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง