ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายจอน อึ๊งภากรณ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ในฐานะองค์ปาฐกของงาน “รำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ได้แสดงปาฐกถาสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ปี 2561 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 หัวข้อ “จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการครบวงจร” โดยได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ตรงที่ประทับใจจากระบบรัฐสวัสดิการ 2 ครั้งสำคัญในชีวิต

นายจอน อึ๊งภากรณ์

ครั้งแรกเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเส้นสมองแตกของบิดา “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” และอีกครั้งคือประสบการณ์การดูแลรักษามารดาของตัวเองจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรทั้งสิ้น

----- เรื่องของ ‘อ.ป๋วย’ รักษาฟรีโดยไม่ต้องมีสัญชาติ -----

“ส่วนตัวผมได้รับประสบการณ์ในเรื่องระบบรัฐสวัสดิการของสหราชอาณาจักร 2 ครั้งในชีวิต ครั้งแรกในช่วงเดือน ก.ย.2520 ในเวลานั้นคุณพ่อ คุณแม่ ตัวผมเอง และน้องชายของผม ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านลอนดอน ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่คุณพ่อ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ได้เดินทางมาประเทศอังกฤษ หลังจากเหตุการณ์นองเลือดวันที่ 6 ตุลาคม 2519

“ในวันรุ่งขึ้น คุณพ่อมีกำหนดการไปสหรัฐอเมริกาเพื่อพบกับคนไทยที่เรียกร้องประชาธิปไตยให้มาสู่ประเทศไทย ขณะนั้นเวลาค่ำ อยู่ดีๆ คุณพ่อก็หมดสติ คุณแม่รีบโทรศัพท์เลขฉุกเฉิน และอีกประมาณ 10 นาที ก็มีรถพยาบาลจากโรงพยาบาลในละแวกใกล้เคียงมารับตัวไป

“วันรุ่นขึ้น คุณพ่อได้รับผ่าตัดเส้นเลือดในสมอง และพักอาศัยในโรงพยาบาลอีกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นได้ย้ายไปอยู่สถานพักฟื้นเพื่อฝึกฝนการพูด การออกเสียง การใช้มือ การเดิน และกว่าที่คุณพ่อจะกลับมาอยู่บ้านอีกครั้งก็เป็นเวลาร่วมๆ 3 เดือน หลังจากเกิดเส้นเลือดในสมองแตก

“หลังจากนั้นอีกหลายเดือน คุณพ่อต้องไปฝึกกายภาพบำบัดและอรรถบำบัดเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 วัน โดยมีรถพยาบาลมารับส่ง”

“คุณพ่อไม่มีสัญชาติอังกฤษ มีแค่ใบอนุญาตพำนักอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลาการรักษาหลายเดือน ครอบครัวไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้แต่ปอนด์เดียว แม้แต่ค่าอาหารในโรงพยาบาลก็ไม่ต้องจ่าย”

“โชคดีที่พ่อป่วยก่อนเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพราะถ้าเกิดเหตุที่นั่น ครอบครัวของเราเป็นต้องล้มละลายแน่นอน”

----- ดูแลตราบจนลมหายใจสุดท้ายของมารดาจะสิ้นสุด -----

“ประสบการณ์ครั้งที่สอง เกิดขึ้นช่วงเดือน มี.ค. 2555 เมื่อผมเดินทางไปเยี่ยมคุณแม่ ซึ่งอายุ 93 ปี ที่กำลังอดข้าวอดน้ำอยู่ในแฟลตที่ลอนดอน

“เมื่อผมไปถึง พบว่าคุณแม่อ่อนแรงมากจนพูดไม่ได้ แต่ก็ยังรู้เรื่องการมาเยี่ยมของผม คุณแม่เขียนป้ายไว้ที่ห้องรับแขกว่า จอน ปีเตอร์ ใจ แม่รักนะ โดยคุณแม่นอนอยู่ในเตียงนอนของคุณแม่ ในห้องนอนของคุณแม่”

“ในเวลากลางวัน จะมีพนักงานจากองค์กรสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงมาดูแลคุณแม่ พนักงานจะมาวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง และก่อนที่คุณแม่จะป่วยหนัก พนักงานเหล่านั้นก็ได้เข้ามาช่วยคุณแม่ทำความสะอาดแฟลต และช่วยคุณแม่ทำงานบ้านเป็นประจำ”

“ในเวลากลางคืน ช่วงที่คุณแม่อดน้ำอดข้าว จะมีพยาบาลวิชาชีพมาเฝ้าคุณแม่ทุกคืน พยาบาลจะนั่งอยู่บนเก้าอี้ข้างเตียงคุณแม่ ให้ยาและมอร์ฟีน ส่วนตัวผมเองก็จะนอนพักอยู่ในห้องข้างเคียง และส่วนในเวลากลางวัน ก็จะมีคุณหมอมาเยี่ยมและให้ยา คุณหมออายุ 40 ปี อยู่คลินิกใกล้เคียง เป็นหมอประจำคุณแม่”

“บริการที่คุณแม่ได้รับเป็นบริการในระบบรัฐสวัสดิการในสหราชอาณาจักรโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผมมีโอกาสอยู่กับคุณแม่ 5 วัน คุณแม่ก็จากไปอย่างสงบ เมื่อคุณแม่หยุดหายใจผมได้โทรเรียกหมอมาตรวจ หมอก็รีบมาตรวจ ผมสังเกตเห็นว่าคุณหมอมีอาการเศร้าและจะร้องไห้”

“ตรงนี้คือสิ่งที่ผมประทับใจที่ผมมีต่อระบบรัฐสวัสดิการของอังกฤษ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางกว่าเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นระบบที่ดูเหมือนจะเอาความต้องการของผู้รับบริการมาเป็นศูนย์กลาง เช่น ไม่ได้บังคับคุณแม่ให้ไปนอนโรงพยาบาล แต่กลับนำบริการมาสู่คุณแม่ที่บ้าน ทั้งๆ ที่คุณแม่ก็เป็นหญิงวัยชราคนธรรมดาคนหนึ่ง”

“คุณแม่มีความประทับใจกับพนักงานองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่มาช่วยงานบ้านของคุณแม่ตั้งแต่ก่อนที่คุณแม่จะป่วย พนักงานกลุ่มนี้เป็นแม่บ้านวัยกลางคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่อพยพมาทำงานโดยได้รับค่าแรงค่อนข้างน้อย แต่ทำงานอย่างตั้งใจ เป็นผู้ดูแลที่ดี และในวันเผาคุณแม่ ยังพบว่ามีผู้ดูแลคนหนึ่งสละเวลามาร่วมงานด้วย”

“ระบบรัฐสวัสดิการเป็นระบบโครงสร้างทางสังคมที่รัฐทำหน้าที่ดูแลกำกับให้ประชาชนทุกส่วนมีหลักประกันด้านคุณภาพชีวิตในระดับที่พออยู่พอกินอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งมักจะประกอบด้วยหลักประกันถ้วนหน้าด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ การศึกษา รายได้ และด้านบริการสังคมอื่นๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับคุณภาพชีวิต”

“เรียกได้ว่าเป็นระบบสวัสดิการที่ทุกคนมีสิทธิได้รับ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”