ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการ มธ. เตือนจุดควันธูปก่อฝุ่นขนาด PM10 หวั่นสูดดมระยะยาวเกิดโรค “มะเร็งปอด” ผลกระทบแรงไม่แตกต่างควันรถยนต์หรือควันบุหรี่ ผลวิจัยตรวจพบกลุ่มเสี่ยงในวัด มีสารก่อมะเร็งสูงกว่าปกติ แนะ 4 วิธีลดผลกระทบ เน้นจุดธูปในที่อากาศถ่ายเทสะดวกและใช้ผ้าปิดจมูกทุกครั้ง

แม้ว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เริ่มคลี่คลายลง แต่ความกังวลถึงความเสี่ยงจากการสูดดมฝุ่นพิษรอบๆ ตัว เช่นกรณี “ควันธูป” ในช่วงเทศกาลหรือสถานที่สำคัญต่างๆ อาจซ้ำเติมสุขภาวะประชาชนให้ย่ำแย่ยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.อารุญ เกตุสาคร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเผาไหม้ของควันธูปจะทำให้เกิดอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เมื่อทุกสูดดมเข้าไป ควันจะลงสู่ระบบทางเดินหายใจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพในอนาคตได้ ประกอบกับในธูปพบสารก่อมะเร็งมากถึง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ผู้ได้รับสัมผัสเป็นเวลานานจึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอดได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุเป็นระยะเวลาที่ชัดเจนว่าต้องได้รับสัมผัสเป็นระยะเวลานานเท่าใด แต่จากการวิจัยโดยทั่วไปต้องมีระยะเวลานานติดต่อกันเป็น 10 ปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบด้วย เช่น พันธุกรรมหรือระบบการระบายอากาศในสถานที่จุดธูป ถ้าระบบถ่ายเทไม่ดี ก็ย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

“การจุดธูปจะทำให้เกิดควันและมลพิษในอากาศ ซึ่งสารที่อยู่ในควันธูปนั้นป็นพิษต่อสารพันธุกรรมและสามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็งในมนุษย์ เช่นเดียวกับที่พบในพวกควันท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ หรือควันจากกิจกรรมในอาคาร เช่น การใช้เชื้อเพลิงจุดอาหาร ยากันยุง”

สำหรับสถานที่เสี่ยงได้รับควันธูปจำนวนมาก เช่น วัด การศึกษาวิจัยพบว่าคนทำงานในวัดมีสารก่อมะเร็งในเลือดสูงกว่าทั่วไป 4 เท่า แต่ไม่ใช่ทุกสถานที่ๆ จุดธูปเป็นประจำ จะเกิดผลลัพท์ดังกล่าว ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์ การระบายอากาศ ล้วนส่งผลกระทบต่อการรับสัมผัสเพิ่มสูงขึ้น

ผศ.ดร.อารุญ กล่าวอีกว่า ยังมีอาชีพเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น ตำรวจจราจร เด็กนักเรียนในเมืองใหญ่ๆ ที่ต้องเดินทางไปเรียนด้วยตนเอง ในกรุงเทพมหานคร และกลุ่มที่มีความเปราะบางทางสุขภาพ เช่น เด็ก คนชรา และผู้ที่จุดธูปเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้านโดยไม่มีอากาศถ่ายเท เป็นต้น

สำหรับคำแนะนำดูแลตนเอง 4 ประการ สำหรับผู้ที่ต้องอยู่ในบริเวณที่มีการจุดธูป ได้แก่ 1. รณรงค์ให้ลดการจุดธูปหรือจุดธูปบริเวณที่โล่ง ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือใช้ธูปขนาดสั้นเพื่อให้เกิดควันระยะสั้นหรือใช้ธูปไฟฟ้า 2. ถ้าหลีกเลี่ยงการจุดธูปไม่ได้ ให้จัดให้มีการระบายอากาศในทิศทางเดียว (One Directional Air Flow) และให้อยู่เหนือทิศทางลม เพื่อลดการรับสัมผัสสาร 3. ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง หรือใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาด ๆ ปิดปากปิดจมูก 4.ภายหลังการสัมผัสควันธูปควรล้างมือ ล้างหน้า ล้างตา ให้สะอาด

“กลุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจากควันธูปและต้องดูแล ได้แก่ เด็ก คนชรา และบุคคลที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เพราะบุคคลเหล่านี้ มีกลไกการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายไม่เหมือนปกติ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการผิดปกติได้มากกว่าในกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี” ผศ.ดร.อารุญกล่าวทิ้งท้าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง