ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลราชวิถี พัฒนาความเป็นเลิศด้านการบริการให้เป็นโรงพยาบาล Smart Hospital ด้วยนโยบาย Smart Healthcare นำระบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาจัดเก็บระบบข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพ ระบบยา ห้องปฏิบัติการ และบุคลากร ตลอดจนระบบจัดการคิวอัจฉริยะ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา การเข้าถึงข้อมูลผู้รับบริการ มีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในการรักษา ลดความแออัด และลดระยะเวลาการรอคอย

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี ครั้งที่ 30 ประจำปี 2562 ในหัวข้อ “The Best for the Most : Reform to Smart Hospital” ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทำให้หลายๆ ประเทศมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมไปเป็นภาคบริการ รวมถึงการนำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข

กรมการแพทย์ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ที่มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการเข้าถึงข้อมูลผู้รับบริการมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อลดความแออัดลดระยะเวลาการรอคอย กรมการแพทย์จึงได้ปฏิรูปบริการทางการแพทย์ 4 ด้าน ดังนี้

1.Agenda Reform ระบบบริหารจัดการ ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง มะเร็งและยาเสพติด

2.Area Reform ระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ เน้นการทำงานแบบ Co – Creation ร่วมกับเขตสุขภาพ

3.System Reform ระบบ Digital Hospital โดยนำ Digital Technology มาใช้ในสถานพยาบาลในสังกัดเพื่อยกระดับให้เป็น Smart Hospital

4.Functional Reform ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งนอกจากจะมีการขับเคลื่อนในมิติเศรษฐกิจแล้วยังต่อยอดในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมนวัตกรรมด้านการแพทย์ เพื่อเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต ในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลราชวิถีพัฒนารูปแบบและนวัตกรรมทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery) เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดการรอคอย ลดความแออัด เข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน การเปิดระบบจัดการคิวอัจฉริยะ “เดินหน้าสู่ Digital Hospital” ซึ่งผู้รับบริการสามารถรู้ระยะเวลาการรอคอยของตนเองได้ตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) แม้ไม่อยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาล รวมถึงนวัตกรรมนาฬิกาอัจฉริยะเตือนภาวะน้ำตาลต่ำในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น

ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ.2562 เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข นำเสนอผลการศึกษาวิจัย โดยมีการเสวนาเชิงวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้า ของสหวิชาชีพต่างๆ ทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์สังกัดอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และวิทยากรจากต่างประเทศ เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีและเป็นภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ รวมทั้งเปิดโลกทัศน์ สร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าร่วมประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพในอนาคต