ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการชี้มาตรการงดขายเหล้า13 เม.ย.ไม่ละเมิดสิทธิ์แต่มุ่งจำกัด-ลดทอนความเสี่ยงอุบัติเหตุความสูญเสีย ระบุควรห้ามส่งเสริมขาย 7 วันสกัดเมายาว ด้าน ศวปถ.หนุนงัดกฎหมายคุมเข้ม 13 เม.ย. ตัดวงจรกลุ่มดื่มนอกบ้านลดสถิติเจ็บตาย ขณะที่ เครือข่ายงดเหล้าเผยเซฟโซนแนวรบสำคัญ ส่งผลควบคุมมหกรรมอีเวนท์ธุรกิจน้ำเมา ด้านเมียเหยื่อเมาแล้วขับวอนดื่มไม่ขับ ถ้าอยากฉลองขอให้กินดื่มอยู่กับที่

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ที่โรงแรมเอเชีย ในเวทีเสวนา “ถอดรหัสสงกรานต์ งดขายสุรา 13 เมษา ลดอุบัติเหตุ” จัดโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยสุรา และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต

นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การนำเสนอให้ห้ามขายเหล้าในวันที่ 13 เมษายน ไม่ใช่ข้อเสนอที่ไร้เหตุผล ประการแรกเลย การห้ามขายในวันที่มีการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นและมีการเดินทางมากกว่าช่วงปกติเป็นหนึ่งในมาตรการจำกัดเวลาในการเข้าถึงแอลกอฮอล์ วิธีการนี้เป็นวิธีการที่สากลใช้ลดความสูญเสียจากแอลกอฮอล์ เหตุผลประการต่อมาคือ จากสถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย ย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ช่วงรอยต่อของวันที่ 13 และ 14 เมษายน เป็นช่วงวันที่มีสถิติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยของการเสียชีวิตใน 2 วันนี้อยู่ที่ 153 คน

นอกจากนั้นเคยมีการวิจัยที่ศึกษาเปรียบเทียบ 3 ช่วง คือ เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และช่วงปกติในปี 2559 โดยอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลมีความสัมพันธ์กับแอลกอฮอล์มากกว่าช่วงปกติ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในช่วงเทศกาลดื่มแอลกอฮอล์ 66.5% และเกือบทั้งหมดของผู้บาดเจ็บที่ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มแอลกอฮอล์ที่ซื้อเอง มากกว่าครึ่งนั้นหาซื้อจากร้านค้า ดังนั้นถ้าจะทดลองใช้มาตรการนี้เพื่อพิสูจน์ว่าได้ผลหรือไม่ จึงควรเริ่มในวันที่อันตรายที่สุด ถ้าได้ผลดีและไม่มีความเสียหายมาก ก็ควรขยายวันเพิ่ม

นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าวต่อว่า สำหรับประการที่ 3 การห้ามจำหน่ายในวันที่ 13 เมษายน ไม่ได้หมายความว่าห้ามดื่มฉลองในวันนั้น มาตรการนี้จึงไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิ์ของผู้ดื่มแต่อย่างใด ใครจะดื่มกินก็เชิญตามสบาย การห้ามจำหน่ายนี้จะหวังผลในแง่ที่ว่าหากใครก็ตามที่ดื่มกินก็ต้องวางแผนเตรียมตัว ซื้อตุนไว้ก่อน รู้ประมาณการของตัวเอง จุดหมายสำคัญของมาตรการนี้ไม่ได้หวังว่าจะลดการดื่ม แต่หวังว่าจะลดการเดินทางของนักดื่มซึ่งมีการศึกษามาแล้วว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุกับคนกลุ่มนี้

“ช่วงปีหลังๆ มานี้ ธุรกิจน้ำเมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเป็นพิเศษ เช่น จัดอีเวนท์ Music marketing มีวงดนตรีดัง จูงใจให้เยาวชนเข้าไปชมพร้อมขายน้ำเมา ทำให้เยาวชนที่ออกจากเขตเล่นน้ำปลอดภัย (Safe Zone) ถูกดักขายน้ำเมาก่อนกลับบ้าน ซึ่งเยาวชนส่วนใหญ่ขี่มอเตอร์ไซค์ ยิ่งปีหลังๆ จัดอีเวนท์มิดไนท์สงกรานต์กันมากขึ้น แปลว่า เมากันยาวก่อนกลับบ้าน แนวโน้มการตายช่วง 7 วันอันตรายจึงมากขึ้น ข้อควรพิจารณาอีกประการหนึ่งคือการห้ามกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือพวกอีเวนท์เมาโดยเด็ดขาด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์” นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าว

นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน ช่วง 7 วัน สงกรานต์ 2561 พบว่าวันที่ 13 เม.ย.เพียงวันเดียวมีผู้เสียชีวิตถึง 90 คน ตายมากกว่าช่วงปกติเกือบ 2 เท่า และตายมากกว่าค่าเฉลี่ย 7 วัน ซึ่งตายวันละ 59.71 คน รวมในวันที่ 13 เม.ย. จำนวน 1,958 ราย จากยอดรวม 7,893 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 24.8 และในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนถึง 1,494 ราย ทั้งนี้ จะพบว่าส่วนใหญ่ของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการดื่มและเมาแล้วขับ จะดื่มแอลกอฮอล์นอกบ้าน โดยเฉพาะในช่วงเย็น-กลางคืน

“ในมาตการห้ามขายเหล้าวันที่ 13 เม.ย. ต้องควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดด้วย ซึ่งมาตรการนี้ตัดวงจรกลุ่มที่ดื่มนอกบ้าน โดยเฉพาะช่วงเย็น-กลางคืน และต้องทำคู่กับมาตรการหลักอื่นๆ เช่น ตรวจจับ ซึ่งภายใต้ทรัพยากรจำกัด การลดคนเมาขับนั้น การบังคับใช้กฎหมายจะง่ายกว่า เพราะดำเนินคดีกับ "เจ้าของงาน" คนเดียว แต่ถ้าตั้งด่านตรวจเมา กับคนเป็นพันๆ ต้องใช้กำลังตำรวจไม่ต่ำกว่า4-50 นาย หรือมากกว่านั้น” นพ.ธนะพงษ์ กล่าว

ขณะที่ นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์รกรงดเหล้า กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมาด้วยการสร้างค่านิยมใหม่และพื้นที่รูปธรรมพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า (Zoning) เป็นแนวรบที่สำคัญ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าหากสังคมร่วมกันจะลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ การงดจำหน่ายในวันที่ 13 เม.ย.ไม่ใช่การละเมิดสิทธิ์แต่จะส่งผลตรงกับการควบคุมกิจกรรมส่งเสริมการขายของธุรกิจแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเวทีคอนเสิร์ตพ่วงลานเบียร์ในพื้นที่เล่นน้ำต่างๆ แต่ประชาชนก็ยังมีความสุขได้ ธุรกิจก็ยังสามารถจัดงานคอนเสิร์ตได้เพียงแต่ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นความรับผิดชอบทางธุรกิจอีกทางหนึ่งด้วย และประชาชนก็สามารถจะเปรียบเทียบสถานการณ์ทางสังคมได้

และสิ่งสำคัญนอกเหนือจากสถิติตัวเลขอุบัติเหตุคือค่านิยมเริ่มเปลี่ยนแปลงว่าการดื่มเป็นเรื่องไม่ปกติ และสังคมจะร่วมกันหามาตรการควบคุมสร้างความตระหนักรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาวร่วมกัน และอยากให้ช่วยกันเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรดาธุรกิจน้ำเมาให้มีมากกว่านี้

ขณะที่ คุณยุ้ย (นามสมมุติ) ภรรยาของผู้ประสบอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับจนเป็นผู้ป่วยติดเตียงกว่า 5 ปี เปิดใจว่า เมื่อปี 2557 สามีดื่มจนเมาแล้วขับรถในวันสงกรานต์ วันนั้นมีการกินเลี้ยงกัน แล้วเขาขับรถไปทำงานทั้งที่ยังไม่สร่างเมา จนประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มหัวฟาดฟุตบาทเป็นผู้ป่วยติดเตียงมา 5 ปีแล้ว อุทาหรณ์เรื่องนี้ คือ ไม่อยากให้กินเหล้าแล้วขับรถและที่สำคัญต้องใส่หมวกกันน็อค การจะไปห้ามดื่มเหล้าในเทศกาล คงเป็นเรื่องยาก แต่อยากให้ทุกคนถ้าคิดจะดื่มไม่ควรออกไปไหน ให้ดื่มที่บ้านจะปลอดภัยที่สุด มีการวางแผนในการกินดื่มที่ไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเองและผู้อื่น และเห็นด้วยกับการงดขายเหล้าในวันที่ 13 เมษายน เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุเจ็บตายบนท้องถนนได้