ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เรียกร้องรัฐบาลสนใจ “คนไทยไร้สิทธิ” คืนสถานะความเป็นคนไทย พร้อมเร่งจัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ” เข้าถึงการรักษาพยาบาลระหว่างรอพิสูจน์ เผยที่ผ่านมาประสาน สปสช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาปัญหาและหาทางช่วยเหลือ ไม่ทอดทิ้ง สร้างความเท่าเทียม

น.ส.วรรณา แก้วชาติ

น.ส.วรรณา แก้วชาติ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวว่า สถานการณ์คนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน หากรวมคนไทยทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มตกสำรวจไม่ได้ทำบัตรประชาชน กลุ่มที่บัตรประชาชนหาย กลุ่มที่ชื่อถูกถอดออกจากทะเบียนบ้านไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง โดยประมาณการณ์น่าจะมีอยู่หลายแสนคน ประเด็นสำคัญคืนคืนเหล่านี้เป็นคนไทย แต่กลับไม่มีสิทธิ เรียกว่าเป็น “กลุ่มคนไทยไร้สิทธิ” และที่มีปัญหาอย่างมากคือ “สิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ” ที่เมื่อเจ็บป่วยทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาได้ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 การไปหาหมอหรือเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลจะต้องใช้เงินตัวเองเพื่อจ่ายค่ารักษา ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากสำหรับคนเหล่านี้ที่ส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ รายได้น้อย และไม่แน่ไม่นอน

ที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงซื้อยากินเอง รอให้ตัวเองเจ็บป่วยลุกลามจึงยอมไปหาหมอ และหลายคนมีอาการหนักจนต้องเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินมารับไป ค่ารักษาก็จะสูงมากตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท ส่วนใหญ่ไม่มีเงินจ่ายต้องหนีออกจากโรงพยาบาล กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับไป ที่ผ่านมาบางคนมีเบอร์โทรศัพท์ของมูลนิธิฯ ก็จะให้เบอร์ติดต่อกับโรงพยาบาลไป ทำให้มีหลายครั้งที่มูลนิธิฯ ได้รับโทรศัพท์จากโรงพยาบาลให้ไปช่วยจ่ายค่ารักษา ซึ่งมูลนิธิฯ ก็ไม่มีกำลังพอจะจ่ายให้ได้เช่นกัน

น.ส.วรรณ กล่าวต่อว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมองว่าการคืนสิทธิความเป็นคนไทยน่าจะเป็นทางออก เพื่อให้ได้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนไทยเช่นกัน ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ จึงได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เพื่อทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลเบื้องต้นก่อน ตามหลักมนุษยธรรม โดยมีการประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อน ที่ผ่านมาจึงได้มีข้อเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อขอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ” เพื่อดูแลคนไทยด้วยกันที่ไม่มีบัตรประชาชน

“ขณะนี้เรามีคณะทำงานร่วมกับ สปสช. องค์กรภาคประภาคประชาชน ภายใต้อนุกรรมการการมีส่วนร่วมฯ ของ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมดูข้อมูลและหาทางออก เช่น จำนวนคนไทยไร้สิทธิ ปัญหามีอะไรบ้าง และแนวทางแก้ไข เพื่อให้คนไทยเหล่านี้เข้าถึงสิทธิได้เช่นเดียวกับคนไทยอื่นๆ ไม่ถูกทอดทิ้ง คาดว่ามีประมาณ 4 แสนคน” เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มพศ. กล่าว และว่า ที่ผ่านมามูลนิธิฯ และเครือข่าย ได้ดำเนินการคืนสิทธิสถานะให้กลุ่มคนไทยไร้สิทธิบางส่วนที่มีหลักฐานยืนยันความเป็นคนไทยชัดเจน โดยพาทำบัตรประชาชน ตรวจดีเอ็นเอยืนยัน เป็นต้น โดยมีการพูดคุยและทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

น.ส.วรรณา กล่าวว่า เบื้องต้นในการทำให้กลุ่มคนไทยไร้สิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพ ได้ประสานไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ารับการรักษาเบื้องต้นได้ รวมทั้งได้มีการจัดหน่วยเคลื่อนที่เพื่อตรวจสุขภาพและรักษาเบื้องต้นให้กลุ่มคนไทยไร้สิทธิที่ศูนย์เครือข่ายคนไร้บ้านบางกอกน้อย ในกรณีที่เจ็บป่วยหนักจะมีการประสานไปยัง สปสช.เพื่อดูช่องทางในการส่งต่อ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้คนไทยกลุ่มนี้ได้คืนสิทธิ มีสถานะความเป็นคนไทยปกติกลับคืนมา ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจปัญหาของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยในส่วนพื้นที่ กทม.ได้ประสานไปยังสำนักงานเขตต่างๆ โดยเฉพาะในเขตสายไหม และเขตบางกอกน้อย ที่มีคนไร้บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของศูนย์เครือข่ายคนไร้บ้าน เพื่ออำนวยการให้ง่ายต่อการดำเนินกระบวนการพิสูจน์สิทธิ รวมถึงการตรวจดีเอ็นเอ

ส่วน สปสช.เป็นหน่วยงานที่ร่วมมีบทบาทในการผลักดัน นอกจากการดำเนินงานร่วมกับศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว สปสช.ยังมีส่วนในการตรวจสอบสิทธิของกลุ่มคนเหล่านี้ และหากได้รับสถานะความเป็นคนไทยกลับคืนแล้ว จะมีการขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมกับการลงทะเบียนสิทธิยังหน่วยบริการที่ใกล้ เพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการ

“หากถามว่าทำไมตัวเองถึงมาผลักดันในเรื่องนี้ เพราะความเจ็บป่วยเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเคยมีประสบการณ์จากแม่ที่ป่วยหนัก จากความยากจนทำให้ไม่มีเงินรักษา ซึ่งแม่เป็นโรคนิ่ว หากได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มแม่ก็อาจจะไม่เสียชีวิต และจากที่ทำงานในมูลนิธิฯ ได้เห็นคนไร้บ้านเจ็บป่วยไม่สบายและเสียชีวิตลง เพราะไม่มีเงินรักษา ไม่มีสิทธิพื้นฐานทั้งที่เป็นคนไทย จึงมุ่งทำเรื่องนี้” เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มศพ. กล่าวและว่า แม้ว่าวันนี้เขาเหล่านี้ยังไม่มีบัตรประชาชน อยู่ระหว่างการพิสูจน์สถานะ ก็ควรได้รับการดูแลจากรัฐบาลเช่นเดียวกับคนไทยอื่นๆ โดยใช้เงินเท่างบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง คาดว่ามีประมาณ 4 แสนคน จำนวนนี้จะลดลงต่อเนื่องหลังมีการพิสูจน์สถานะคนไทยได้