ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค โดยสำนักวัณโรค เดินหน้านำเทคโนโลยีโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาพัฒนาเพื่อช่วยแปลผลภาพรังสีทรวงอกในการวินิจฉัยวัณโรคเบื้องต้น เพิ่มความสะดวกและช่วยให้ผู้รับบริการได้รับผลเอกซเรย์ที่รวดเร็ว นำไปสู่การตรวจเสมหะเพื่อวินิจฉัยวัณโรคได้รวดเร็วมากขึ้น ทำให้สามารถพบผู้ป่วยวัณโรคได้รวดเร็ว นำเข้าสู่ขบวนการรักษาเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ต้องขังในเรือนจำ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานประชุมคณะทำงานพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ช่วยแปลผลภาพรังสีทรวงอกเพื่อวินิจฉัยวัณโรคเบื้องต้น ครั้งที่ 1/2562 โดยมี พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค ร่วมกับ ผศ.ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมหาแนวทางในการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุนมากขึ้น และสามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้มีความยั่งยืน ต่อไป

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาของประเทศ กรมควบคุมโรค และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย และรักษาให้เร็วที่สุด โดยเร่งรัดค้นหาในประชากรกลุ่มเสี่ยง ซึ่งการค้นหาวัณโรคในปัจจุบันต้องถ่ายภาพรังสีทรวงอกเป็นหลักเพราะจะมีความไวสูง มีโอกาสพบผู้ป่วยวัณโรคได้เร็ว และการนำเครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิตอลมาประกอบบนรถเป็นรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ ให้บริการตรวจสุขภาพโดยถ่ายภาพรังสีทรวงอกเป็นหมู่คณะ ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น เรือนจำ สถานประกอบการ โรงงาน สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ ศูนย์คนชรา จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง ลดการเสียเวลาในการรอคอยรับบริการที่โรงพยาบาล ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากโรงพยาบาลด้วย

อย่างไรก็ตาม รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ มีข้อจำกัด เรื่องการรอผลการอ่านฟิล์มล่าช้า เนื่องจากหาแพทย์ที่มีเวลาไปอ่านภาพถ่ายรังสีในพื้นที่ขณะทำการเอกซเรย์ยากมาก การมี AI ช่วยในการสกรีนเบื้องต้นก่อนจะช่วยคัดกรองผู้ที่มีภาพเอกซเรย์ปกติออกก่อน เหลือจำนวนผู้ที่ภาพเอกซเรย์ผิดปกติสงสัยวัณโรค ที่แพทย์ต้องอ่านซ้ำน้อยลง ผู้รับบริการได้ ทราบผลการเอกซเรย์ปอดเร็วขึ้น นำไปสู่การตรวจเสมหะเพื่อวินิจฉัยวัณโรคได้รวดเร็ว จะสามารถขยายครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เนื่องจากศักยภาพในการอ่านฟิล์มเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนต่อครั้งลดลง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมคณะทำงานครั้งแรก เพื่อให้คณะทำงานได้ร่วมหาแนวทางในการพัฒนา AI ของกรมควบคุมโรค เพื่อนำมาใช้ในการคัดกรองวัณโรค ซึ่งขณะนี้กำลังพัฒนาฐานข้อมูลสำหรับระบบคัดกรองวัณโรคของไทย โดยเน้นประชากรกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือ กลุ่มนักโทษในเรือนจำ โดยหลังจากดำเนินการเรียบร้อยแล้วก็จะนำต้นแบบไปทดลองใช้ต่อไป และคาดว่าจะสามารถนำ AI ดังกล่าวมาดำเนินการได้จริงในเร็วๆ นี้

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422