ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระบวนการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยทางทันตกรรม (Thai Dental Clinic Accreditation) หรือ TDCA นับเป็น “เกณฑ์มาตฐาน” ระดับสากล ที่ทันตแพทยสภาพัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้ารับบริการ

ตลอดระยะเวลา 7 ปีเศษ นับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ริเริ่มใช้มาตรฐาน TDCA จนถึงขณะนี้พบว่าทั่วประเทศมีคลินิกทันตกรรมที่ผ่านการประเมินแล้ว 64 แห่ง แบ่งเป็นภาครัฐ 54 แห่ง และเอกชนอีก 10 แห่ง

แม้ว่าตัวเลขคลินิกที่ผ่านเกณฑ์จะดูไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนคลินิกทั้งหมด หากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่คลินิกแต่ละแห่งจะยกระดับตัวเองขึ้นมาให้อยู่เหนือเกณฑ์ TDCA นี้

การอภิปรายกลุ่มเรื่อง “TDCA now everyone can do” หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า “คลินิกทันตกรรมคุณภาพ ใครๆ ก็ทำได้” ที่จัดขึ้นโดยทันตแพทยสภา และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่ช่วยให้เห็นภาพการพัฒนาคลินิกเข้าสู่มาตรฐาน TDCA ได้เป็นอย่างดี

ทพญ.กุลยา รัตนปรีดากุล

จากประสบการณ์อันคร่ำหวอดในฐานะนักบริหารโรงพยาบาลชั้นนำ และทันตแพทย์มือชั้นครู ทพญ.กุลยา รัตนปรีดากุล โรงพยาบาลกรุงเทพ ยืนยันว่า หัวใจสำคัญของทันตกรรมคือคุณภาพการรักษา ซึ่งเมื่อทำจนประชาชนสามารถสัมผัสได้ ย่อมเกิดผลตอบกลับมายังคลินิกหรือหน่วยบริการ นั่นก็คือการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

“ถ้าเราทำให้คลินิกมีคุณภาพ ทำให้โรงพยาบาลมีคุณภาพ แพทย์เก่งๆ หมอดีๆ ก็อยากจะเข้ามาทำงานกับเรา เขาอยากทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัย มีระบบที่เอื้อให้เขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายถึงการค่อยๆ เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยคุณภาพ” อาจารย์กุลยา อธิบาย

ทพญ.กุลยา บอกว่า TDCA นับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับทันตแพทย์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทันตแพทย์ในระดับใดก็ตาม ตั้งแต่เจ้าของคลินิกขนาดเล็กไปจนถึงผู้บริหารโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ฉะนั้นจึงควรให้ความสำคัญ เพื่อยกระดับตัวเอง และยกระดับการบริการให้กับประชาชน

ทพญ.อภิญญา กุลวีระอารีย์

ในมุมมองของคลินิก ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีสเกลขนาดเล็กเมื่อเทียบเคียงกับโรงพยาบาล หากแต่การทำงานของ ทพญ.อภิญญา กุลวีระอารีย์ เขารังทันตคลินิก จ.ภูเก็ต กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

คลินิกแห่งนี้มีบุคลากรกว่า 50 ชีวิต แต่ละคนมีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยทางคลินิกให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของผู้รับการรักษาเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการให้บริการมาโดยตลอด ซึ่งจากการทำงานพบว่าสิ่งที่ผู้เข้ารับการรักษาต้องการคือ “ความปลอดภัย ความประทับใจ และความมั่นใจ”

“เสียงสะท้อนของผู้เข้ารับการรักษาทำให้เรากลับมามองว่าต้องปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง อะไรที่จะตอบโจทย์ให้กับเขาได้ วันนั้นดิฉันจึงมองหาระบบเพื่อมารองรับกระบวนการทำงาน และในปี 2009 ที่ทางทันตแพทยสภาได้เปิดโครงการนำร่อง คือคลินิกทันตกรรมปลอดภัย ซึ่งจากการทำเวิร์คช็อปก็ทำให้รู้จักแนวทางปฏิบัติ TDCA” เธอ ระบุ

ทพญ.อภิญญา เล่าต่อไปว่า สำหรับเขารังคลินิก สิ่งแรกที่ได้ทำคือการนำพลาสติกใสมาแรป (wrap) บางส่วนของยูนิตทันตกรรม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้เข้ารับการรักษา

“ในระยะแรกที่เราทำไม่ใช่เรื่องง่าย ภายใต้ความไม่คล่องและความคุ้นเคยว่าการปฏิบัติงานแบบเดิมรวดเร็วกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรากลับเริ่มเห็นภาพทันตแพทย์ลงมือแรปพลาสติกเอง นั่นสะท้อนว่าเขาเห็นถึงความสำคัญ และในเวลาต่อมาบุคลากรที่ทำงานร่วมกันก็ขานรับแนวทาง

“ที่สุดแล้ว เขาบอกตรงกันว่าที่ทำไปเพราะรู้สึกมั่นใจในการส่งมอบบริการที่สะอาดและปลอดภัยให้กับผู้เข้ารับการรักษาทุกราย” ทพญ.อภิญญา ให้ภาพตัวอย่างการขับเคลื่อนงานคุณภาพ โดยชี้ให้เห็นถึงคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการสร้างคุณภาพบริการ

หรืออีกมาตรการหนึ่งตามแนวทาง TDCA คือการซักประวัติคนไข้ทุกครั้งที่มารับการรักษา ซึ่งแม้ว่าจะดูเหมือนการทำงานซ้ำซากและสร้างความรำคาญให้กับคนไข้ แต่มาตรการนี้จะช่วยป้องกันความเสี่ยงและความผิดพลาดจากการให้การรักษาได้เป็นอย่างดี

“อย่างเรื่องการซักประวัติคนไข้ มันจำเป็นที่เราต้องถามคนไข้ทุกครั้งเลยเหรอ คนไข้มาหาเราทุก 2 สัปดาห์เราต้องซักประวัติเขาใหม่ด้วยเหรอ ตอนทำๆ ไปในช่วงแรกคนไข้ก็รำคาญมาก แต่ถามว่าการซักประวัติเป็นสิ่งที่สำคัญไหม ตอบเลยว่าสำคัญมาก

“เพราะระยะเวลา 2 สัปดาห์ประวัติเขาเปลี่ยนจริงๆ จากเดิมครั้งแรกที่เขาอาจบอกเราว่าเขาเป็นแค่ความดันโลหิตสูง แต่พอผ่านไป 2 สัปดาห์ เขาอาจบอกเรามากขึ้น และทำให้เราพบว่าเขามีโรคประจำตัวหรือภาวะต่างๆ เพิ่มจากตอนแรก นั่นย่อมหมายถึงตัวยาที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย หรืออีกประเด็นคือกรณีคนไข้ไม่ได้ให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นจริงซึ่งจะส่งผลต่อการรักษา ดังนั้นการซักประวัติทุกครั้งทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น และความเสี่ยงในการรักษาก็ลดน้อยลง นี่คือตัวอย่างการดำเนินการตามแนวทาง TDCA” ทพญ.อภิญญา อธิบาย

เธอ ย้ำว่า นี่เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวที่ได้ทำตามแนวทางของ TDCA ซึ่งทั้งหมดทำให้บุคลากรทุกคนมีความมั่นใจและภูมิใจที่จะต่อยอดการให้บริการต่อไป

สำหรับอุปสรรคที่พบจากการขับเคลื่อนระบบคุณภาพ และเป็นสิ่งที่เขารังคลินิกต้องฝ่าฟัน 1.เราต้องมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่เราจะต้องสื่อให้เขาเห็นความสำคัญ เห็นประโยชน์กับสิ่งที่ปรับเปลี่ยนว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับใครบ้าง 2. เราต้องพร้อมรับฟังถึงผลกระทบที่เขาได้รับจากการปรับเปลี่ยน 3. ต้องพร้อมปรับมุมมองและวิธีการให้สอดคล้องกับการทำงานของบุคลากรมากที่สุด

ทพญ.ดร.สดใส วิโรจนศักดิ์

สอดคล้องกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทพญ.ดร.สดใส วิโรจนศักดิ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่บอกเล่าตัวอย่างการนำแนวทาง TDCA มาปรับใช้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ใช้หลักการเดียวกันคือการชี้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานคุณภาพแก่บุคลากรและนิสิต

เธอ บอกว่า TDCA มีจุดเด่นคือใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สามารถสื่อสารกับบุคลากรได้ทุกระดับ ทางมหาวิทยาลัยจึงนำเข้ามาช่วยในเรื่องของการทำงานคุณภาพ โดยเฉพาะคลินิกนิสิตทันตแพทย์ที่ยังอ่อนประสบการณ์ และโอกาสเกิดความผิดพลาดยังมีสูง ซึ่งแน่นอนว่าคนไข้อาจไม่เชื่อมั่นการรักษา ดังนั้นการทำงานคุณภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นประโยชน์กับทั้งตัวนิสิตและคนไข้ด้วย

“ด้วยคณะมีคนค่อนข้างเยอะ อาจารย์ 150 คน เจ้าหน้าที่ 150 คน นิสิตอีก 200 คน จุดที่เราจะเน้นคือเรื่องของการสื่อสารและจูงใจให้คนอยากทำงานคุณภาพ โดยต้องเข้าใจจุดเน้นของคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน เช่น อาจารย์ก็จะเน้นเรื่องการสอน นิสิตก็จะเน้นเรื่องเรียนให้จบ ฉะนั้นเราก็ต้องชี้ให้เขาเห็นว่าเขาจะได้รับประโยชน์อะไรจากการทำงานคุณภาพบ้าง” ตัวอย่างแนวทางการดำเนินการในมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี

อาจารย์สดใส เล่าต่อไปว่า อย่างไรก็ตามเกณฑ์ TDCA ในบางข้ออาจจะยากและไม่สอดคล้องกับบริบทการทำงานจริงในมหาวิทยาลัย เช่น การถอดถุงมือทุกครั้ง ซึ่งในความเป็นจริงคืออาจารย์ต้องตรวจงานครั้งละไม่ต่ำกว่า 10 รอบ การถอด-ใส่ทุกครั้งอาจทำให้กระทบเรื่องงบประมาณ เราก็ต้องมาดูว่าจุดไหนคือจุดเน้นสำคัญ ซึ่งส่วนนี้คือนิสิตที่จะต้องใส่ถุงมือเป็นหลัก ส่วนอาจารย์ก็จะลดการใช้ซ้ำในน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เรามีการยืดหยุ่นเกณฑ์ต่างๆ โดยที่ต้องไม่ทำให้เกณฑ์หลักมันเสียไป และต้องทำให้ได้ตามความปลอดภัยจริงๆ” นั่นคืออีกหัวใจความสำเร็จในการดำเนินการ

ทั้งหมดเป็นเพียงจิ๊กซอว์เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ นับเป็นตัวอย่างจากประสบการณ์จริงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดงานคุณภาพต่อไป