ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับทุกภาคส่วน รณรงค์ “ถึงเวลา ยุติปัญหาวัณโรค” เนื่องในวันวัณโรคสากลปี 2562 เร่งรัดคัดกรองวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง ค้นหาวัณโรคเชิงรุกในเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ นำเข้าสู่ระบบการรักษาลดการแพร่เชื้อ ลดปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยา

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลอากาศโท นพ.มานพ จิตต์จรัส รองประธานกรรมการกลางสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ Dr.Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในวันวัณโรคสากล ปี 2562

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า วันวัณโรคสากล (World TB Day) ตรงกับวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ในปีนี้ องค์กรต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ ได้กำหนดข้อความสื่อไปถึงทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ในทิศทางเดียวกัน คือ “IT’S TIME TO ZERO TB” หรือ “ถึงเวลา ยุติปัญหาวัณโรค” มีความหมายว่า “ถึงเวลาที่พวกเราทุกคน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันปฏิบัติกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศ” ตามเป้าหมายแผนปฏิบัติการระดับชาติ นำไปสู่ TB-Free Thailand For TB-Free World “เมืองไทยปลอดวัณโรค เพื่อโลกปลอดวัณโรค” มีเป้าหมายการลดอุบัติการณ์วัณโรคลงอย่างน้อยร้อยละ 12.5 ต่อปี เหลือ 88 ต่อแสนประชากร เมื่อสิ้นปี 2564 และบรรลุเป้าหมายยุติปัญหาวัณโรคเหลือ 10 ต่อแสนประชากร เมื่อสิ้นปี 2578

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า แม้ว่าประเทศไทยมีอัตราความสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่มากกว่าร้อยละ 85 สามารถลดอัตราอุบัติการณ์ของผู้ป่วยวัณโรคจาก 172 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2559 ลดลงเหลือ 156 ต่อแสนประชากร ในปี 2560 แต่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 108,000 รายต่อปี และเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปีที่สำคัญวัณโรคดื้อยาหลายขนานที่คาดว่าอาจมีมากถึง 3,900 ราย ค่าใช้จ่ายในการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 1.2 แสนบาทต่อราย และถ้าเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมากค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.2 ล้านบาทต่อราย

ความสำเร็จในการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ใช้ 4 แนวทาง คือ 

1.“นโยบายเข้มแข็ง” ผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาวัณโรคเป็นนโยบายทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ  ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อสู้วัณโรค เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 และคณะรัฐมนตรีได้รับรองแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ.2560-2564 

2.“เสริมแรงด้วยความรู้” โดย 16 องค์กรเครือข่ายตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย และการจัดตั้งเครือข่ายการวิจัยด้านวัณโรค หรือ Thai TuRN (Thai Tuberculosis Network)  

3.“รวมหมู่เป็นเจ้าของ” ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ป้องกันควบคุมและดูแลรักษาในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่ดำเนินงานวัณโรคในสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ ร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม ประกาศเจตนารมณ์ “ยุติวัณโรคในเรือนจำ” เร่งรัดคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในเรือนจำ 

4.“ต้องก้าวต่อเนื่อง" คัดกรองค้นหาในกลุ่มเสี่ยง กำกับดูแล และระบบส่งต่อ นำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา ค้นพบและขึ้นทะเบียนรักษาผู้ป่วยรายใหม่และกลับเป็นซ้ำได้เพิ่มขึ้น รวมทั้ง คัดกรองวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยง ในปี 2560-2561 ได้ประมาณ 5 ล้านคน พบเป็นวัณโรค 22,784 ราย พัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลการบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรครายบุคคลเป็นโปรแกรมการบริหารจัดการข้อมูลวัณโรคแห่งชาติ (NTIP)                                                    

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2562 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานป้องกัน ดูแล รักษา และควบคุมวัณโรคเพื่อลดอัตราป่วยและอัตราตาย โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะกำหนดเป็นนโยบายเร่งรัดคัดกรอง ค้นหา ตรวจและรักษาผู้ป่วยวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ผู้สูงอายุมีโรคร่วม แรงงานข้ามชาติ และบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ครอบคลุม การตรวจรักษาวัณโรคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน 

จัดหาเทคโนโลยีใหม่และได้ผลเร็วมาใช้ในการคัดกรองและวินิจฉัยวัณโรค เร่งรัดค้นหาและวินิจฉัยวัณโรคดื้อยาในกลุ่มเสี่ยงโดยส่งตรวจทดสอบความไวต่อยาทุกราย จัดหายาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการบริหารจัดการรักษาวัณโรคดื้อยา และกำหนดมาตรการและดำเนินการค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ติดเชื้อและมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคสูง คือ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ต้องขัง และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมให้ยารักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง สำหรับกิจกรรมรณรงค์ในปีนี้ ประกอบด้วย 

1.กิจกรรมเดินวิ่งการกุศล Charity TB Run 2019 Mini Marathon ที่กระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 17 มีนาคม 2562 โดยร่วมกับมูลนิธิศุภมิตแห่งประเทศไทยและองค์กรภาคีเครือข่าย เพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรค 

2.การประชุมวิชาการและนิทรรศการวันวัณโรคสากล วันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ 

3.การจัดกิจกรรมวันวัณโรคสากล ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กทม. โดยร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และองค์กรภาคีเครือข่าย